RMUTP

แพลตฟอร์มการเรียนรู้

นวัตกรรมชุมชน

ศูนย์การเรียนรู้


RMUTP community innovation learning platforms (RMUTP CILP)

หลักสูตรที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการตลาดและส่วนประสมทางการตลาด

คำอธิบายหลักสูตร ศึกษาเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นของการตลาด แนวความคิดการตลาด การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางการตลาด ผลิตภัณฑ์และการกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ การกำหนดราคา การจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการตลาด
วัตถุประสงค์การเรียนรู้ 1. เพื่อให้เข้าใจความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการตลาด
2. เพื่อให้เข้าใจสิ่งแวดล้อมทางการตลาด
3. เพื่อให้เข้าใจและมีทักษะในการกำหนดส่วนประสมทางการตลาด
วิธีการพัฒนา 1. อธิบายและยกตัวอย่างเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นของการตลาด
2. ฝึกทักษะการกำหนดส่วนประสมทางการตลาด
เกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จ 1. ความเข้าใจเกี่ยวกับการตลาดเบื้องต้น
2. ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดส่วนประสมทางการตลาด
วิธีวัดผล ตอบคำถามตามแบบทดสอบ
ระยะเวลา 180 นาที
เครื่องมือ อุปกรณ์ 1. เอกสารประกอบการสอน
2. กระดานฟลิปชาร์ท พร้อมกระดาษ
3. ปากกาไวท์บอร์ด

ส่วนที่ 1 หลักการและแนวคิด

การตลาด มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์มีความต้องการ ความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด และพยายามแสวงหาสิ่งต่างๆ ทั้งสินค้าและบริการที่จำเป็น และไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ยารักษาโรค และการอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าเพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์มากที่สุด การขายเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด และการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความพึงพอใจมากที่สุด ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต้องอาศัย การตลาด เป็นกลไกสำคัญ ดังนั้นกิจกรรมของการตลาดที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มีอยู่ 3 ลักษณะ คือ การผลิต (Production) การจัดจำหน่าย (Distribution) และการบริโภค (Consumption)

ส่วนที่ 2 เนื้อหาหลักสูตร

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการตลาด

ความหมายของตลาด

Phillip Kotler ให้ความหมายการตลาดว่า “เป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่จะดำเนินเพื่อให้มีการตอบสนองความพอใจ และความต้องการต่างๆ โดยอาศัยกระบวนการแลกเปลี่ยน”
Jerome McCarthy ให้ความหมายการตลาดว่า “เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวกับความพยายามให้องค์การบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยอาศัยการคาดหมายความต้องการต่างๆ ของลูกค้าและยังรวมถึงการที่สินค้าและบริการผ่านจากผู้ผลิตไปยังลูกค้า เพื่อตอบสนองความพอใจให้กับลูกค้า”

William Stanton ให้ความหมายการตลาดว่า “เป็นระบบของปฏิกิริยา กิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน การกำหนดราคาการส่งเสริมการตลาด และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และผู้บริโภคที่คาดหมายในอนาคต”
คณะกรรมการสมาคมการตลาดแห่งสหรัฐอเมริกา ให้ความหมายการตลาดว่า “เป็นการปฏิบัติทางธุรกิจที่เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ในการให้สินค้าและบริการผ่านจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคหรือผู้ใช้ ให้ได้รับความพอใจ ขณะเดียวกันก็บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการ”

จากคำจำกัดความดังกล่าว ประเด็นสำคัญของความหมายการตลาด มีดังนี้

  1. กิจกรรมที่ทำให้สินค้าหรือบริการไปถึงมือผู้บริโภคคนสุดท้าย หรือผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. การตอบสนองและความต้องการ หรือความพอใจของผู้บริโภคคนสุดท้ายหรือผู้ใช้ ฉะนั้นนักการตลาดต้องค้นหาความจำเป็น ความต้องการของผู้บริโภคคนสุดท้ายหรือผู้ใช้ให้ถูกต้อง
  3. เคลื่อนย้ายสินค้าหรือบริการ จากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคคนสุดท้าย หรือผู้ใช้ ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อ-ขายขึ้นระหว่างผู้ซื้อ (ผู้บริโภคคนสุดท้าย หรือผู้ใช้) กับผู้ชาย (ผู้ผลิต หรือคนกลาง)
  4. บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการ คือการทำกำไร

ความสำคัญของตลาด

  1. ความสำคัญต่อบุคคล

ต่อบุคคล ในที่นี้ หมายถึง บุคคลในหน่วยงานต่าง เช่น  หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรทางการตลาดนั่นเอง ซึ่งทางการตลาดจะช่วยสร้างอาชีพให้แก่บุคคลในสังคมได้ เช่น ผู้ขาย คนวางแผนการขาย  คนคิดโฆษณา  นักวิจัยตลาด ผู้ผลิต  นักวิจัยการตลาด  เป็นต้น เป็นการสร้างรายได้ไปในตัวให้กับบุคคลภายในตัว ทำให้เกิดอาชีพเพิ่มขึ้นคนจะได้ไม่เกิดการแย่งงานกันอีกด้วย  นอกจากนี้ บุคคล ยังหมายถึงผู้บริโภคหรือลูกค้าได้อีกด้วย  เพราะการตลาดจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ เช่น  ด้านเวลา ด้านสถานที่ มีการจัดหาสิ่งต่างๆเพื่อมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค  ทำให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจและมีความสุขในการได้รับบริการหรือบริโภคสินค้า โดยการตลาดยังสามารถให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการเลือกซื้อสินค้าได้อีกด้วย

  1. ความสำคัญต่อองค์กรธุรกิจ

การตลาดสามารถช่วยสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัท ธุรกิจ องค์กร เมื่อเจ้าของกิจการผลิตสินค้าออกมาสู่ตลาดและจำหน่ายจะทำให้เกิดรายได้ย้อนกลับ ทำให้สามารถลงทุนสร้างรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการหมุนเวียนไป นอกจากนี้ การตลาดยังทำให้เกิดองค์กรธุรกิจใหม่ๆในรูปแบบที่แตกต่างขึ้น เช่น ร้านขายปลีก นายหน้า พ่อค้าคนกลางเพื่อต่อรองราคาสินค้า การขนส่ง ประกัน และอีกมากมาย ทำให้เกิดทางเลือกให้ผู้ประกอบอาชีพให้เลือกสรร และเกิดการขยายตัวในระบบตลาดนั่นเอง

  1. ความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม

ความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม คือ ทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตมากขึ้น เนื่องจากตลาดทำให้เกิดธุรกิจ เกิดการผลิต การลงทุน เกิดการจ้างงานซึ่งส่งผลต่อรายได้  เกิดการกระจายรายได้และทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแก่บุคคล โดยไม่มีปัญหาเรื่องการจ้างงาน ทำให้บุคคลมีทรัพย์สินมากขึ้น ส่งผลไปยังการเพิ่มอำนาจในการซื้อของ ยังช่วยยกมาตรฐานระดับค่าครองชีพของสังคมให้สูงขึ้น  ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลย้อนกลับมาทำให้เศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น

สิ่งแวดล้อมทางการตลาด

สิ่งแวดล้อมทางการตลาด หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการบริหารการตลาด มีทั้งสิ่งแวดล้อมภายในซึ่งเป็นปัจจัยที่ธุรกิจสามารถควบคุมได้ และสิ่งแวดล้อมภายนอกซึ่งเป็นปัจจัยที่ธุรกิจไม่สามารถควบคุมได้

ปัจจัยดังกล่าวมีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบาย การวางแผน การกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจ ซึ่งธุรกิจจะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมต่างๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

สิ่งแวดล้อมทางการตลาด แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ สิ่งแวดล้อมภายใน (Internal Environment) และสิ่งแวดล้อมภายนอก (External Environment)

  1. สิ่งแวดล้อมภายใน (Internal Environment) เป็นสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยที่อยู่ภายในกิจการและกิจการสามารถทำการออกแบบหรือควบคุมได้ เรียกว่า ปัจจัยที่ควบคุม (Controllable Factors) ประกอบด้วย

1.1 ส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mix) หรือ 4 P’s ได้แก่  ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) การจัดจำหน่าย (Place) และ การส่งเสริมการตลาด(Promotion)

1.2 การผลิต (Production) เป็นกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบเครื่องมือเครื่องจักร กระบวนการแปรสภาพ ประสิทธิภาพในการผลิต ธุรกิจจำเป็นต้องกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ หรือมีการปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

1.3 การเงิน (Financial) เป็นการบริหารด้านการเงิน จำนวนเงินลงทุน แหล่งที่มา ของเงินทุน ฐานะทางการเงิน ตลอดจนนโยบายทางด้านการเงินของกิจการ

1.4 ทรัพยากรบุคคล (Human Resources) หมายถึง บุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ให้กับกิจการตามโครงสร้าง ซึ่งอาจแบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

1.5 การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์และประเมินผล สำหรับการพัฒนาปรับปรุงกิจการหรือดำเนินการเกี่ยวผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

  1. สิ่งแวดล้อมภายนอก (External Environment)

2.1 สิ่งแวดล้อมภายนอก เป็นสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยภายนอกที่กิจการไม่สามารถควบคุมได้ เรียกว่า ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ (Uncontrollable Factors) ที่มีอิทธิพลต่อการบรรลุเป้าหมายของกิจการ ซึ่งเจ้าของกิจการจะต้องวิเคราะห์ปัจจัยของสิ่งแวดล้อมภายนอกนี้ เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งแวดล้อมภายนอก ประกอบด้วย บริษัท (Company)  ผู้ขายวัตถุดิบ (Suppliers) คนกลางทางการตลาด (Marketing Intermediaries) ลูกค้า (Customers) คู่แข่งขัน (Competitors) กลุ่มสาธารณะ (Publics)

2.2 สิ่งแวดล้อมมหภาค (Macro Environment) เป็นปัจจัยทางสังคมที่มีขนาดใหญ่ในระดับประเทศหรือระหว่างประเทศ ซึ่งมีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมทางการตลาดในวงกว้าง ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางด้านประชากรศาสตร์ (Demographic Environment) สิ่งแวดล้อมด้านการเมืองและกฎหมาย (Political and Legal Environment) สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (Natural Environment) สิ่งแวดล้อมทางเทคโนโลยี (Technology Environment) สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ (Economic Environment) สังคมและวัฒนธรรม (Social and Cultural Environment)

การวิเคราะห์ SWOT (SWOT Analysis) 

  1. Strengths (จุดแข็ง) เป็นการพิจารณาข้อดีหรือจุดเด่นที่เกี่ยวกับบริษัท ผลิตภัณฑ์ ส่วนประสมทางการตลาด (4P’s) และปัจจัยภายในที่บริษัทสามารถควบคุมได้ และนำมาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์การตลาด ตัวอย่างของจุดแข็ง ได้แก่

          – สินค้ามีคุณภาพดี                            – ความชำนาญของบุคลากร

          – บรรจุภัณฑ์ทันสมัย                          – ความแข็งแกร่งของตราสินค้า

          – เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ                   – ทำเลที่ตั้งของกิจการที่เหมาะสม

          – มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี                     – ระบบตรวจสอบคุณภาพที่ทันสมัย

          – ส่วนแบ่งทางการตลาดสูง                   – ภาพพจน์ของสินค้าและบริษัทดี

          – ต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำ                     – มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง

          – มีความสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

  1. Weaknesses (จุดอ่อน) เป็นการพิจารณาข้อเสียหรือจุดด้อยหรือข้อบกพร่องที่อยู่ภายในบริษัทและผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่บริษัทสามารถควบคุมได้และบริษัทจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ตัวอย่างของจุดอ่อน ได้แก่

          – สินค้ามีให้เลือกน้อย                         – ราคาสินค้าแพงกว่าคู่แข่งขัน

          – รูปแบบสินค้าไม่ทันสมัย                    – เงินทุนไม่เพียงพอ

          – กำลังการผลิตต่ำ                            – สายผลิตภัณฑ์สั้น

          – ต้นทุนการผลิตสูง                           – จำนวนแรงงานไม่เพียงพอ

          – ช่องทางการจัดจำหน่ายไม่เพียงพอ         – ไม่มีงบประการการโฆษณา

  1. Opportunities (โอกาส) เป็นการพิจารณาถึงข้อได้เปรียบของกิจการหรือของผลิตภัณฑ์ที่มีเหนือกว่าคู่แข่งขัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่ภายนอกที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อบริษัท ให้นำไปใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด ตัวอย่างของโอกาส ได้แก่

          – การแข่งขันยังมีน้อย                          – คู่แข่งขันเลิกกิจการ

          – จำนวนผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น                  – การเติบโตของตลาดอย่างต่อเนื่อง

          – ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล                – ทัศนคติที่ดีต่อสินค้าของผู้บริโภค

          – เศรษฐกิจมีอัตราเจริญเติบโตสูงขึ้น         – มีคนกลางที่ช่วยจัดจำหน่ายมาก

          – เทคโนโลยีหรือวิชาการใหม่ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อธุรกิจ

  1. Threats (อุปสรรค) เป็นการพิจารณาข้อเสียเปรียบ ข้อจำกัด หรือปัญหาที่อยู่ภายนอกกิจการ และเป็นอุปสรรคที่มีผลกระทบต่อบริษัท เป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ตัวอย่างของข้อจำกัด ได้แก่

          – ราคาของต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น               – คู่แข่งขันรายใหม่เข้ามาในตลาด

          – มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใหม่       – คู่แข่งขันทุ่มการโฆษณาสูง

          – มีสินค้าที่ใช้ทดแทนกันได้                   – สินค้าถูกกดราคาจากคนกลาง

          – เศรษฐกิจอยู่ในขั้นตกต่ำ                    – ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรสนิยม

ส่วนประสมทางการตลาด (สำหรับการตลาดออนไลน์)

ผลิตภัณฑ์ (Product)
แม้เว็บไซต์จะมีความสวยงาม แต่หากผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ความสวยงามหรือตื่นตาตื่นใจเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถที่จะสร้างรายได้ให้ กับธุรกิจได้ ดังนั้น ผู้ผลิตจึงควรที่จะมีการวิเคราะห์สินค้าว่ารูปแบบควรเป็นลักษณะใด การใช้ประโยชน์ของสินค้า และกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ซื้อ โดยเฉพาะการผลิตสินค้าที่ไม่มีขายทั่วไปในช่องทางปกติ เช่นผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพรจากเกษตร เช่น ปลาร้าก้อน, ปลาร้าผง, สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้สินค้านั้นเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อออนไลน์

ปัญหาสำคัญของการซื้อขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ตคือ ลูกค้าไม่สามารถทดลองสินค้าได้ก่อน แม้ว่าสินค้านั้นจะดีจริง ลูกค้าส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าจากร้านที่เขาเคยได้ยินชื่อมาก่อน หรือมิฉะนั้น สินค้าจะต้องมีตรายี่ห้อ เพื่อจะได้มั่นใจในคุณภาพสินค้า และการสร้างความน่าเชื่อถือของร้านค้า ว่าจะไม่ทุจริต เพราะจำนวนเงินธุรกรรมที่ผู้บริโภคซื้อผ่านเว็บไซต์ บางครั้งก็ไม่คุ้มที่จะฟ้องร้องหากผู้ขายทุจริต นอกจากนั้น ผู้ขายจะต้องคำนึงถึงการจัดส่งสินค้าให้อยู่ในสภาพที่ดีด้วย

 องค์ประกอบที่ 2 ราคา (Price)

สินค้าไทยอาจมีราคาถูกเมื่อคำนวณในสกุลเงินต่างประเทศ แต่การขายสินค้าไปต่างประเทศในลักษณะผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค (B2C) นั้น ผู้ซื้อต้องชำระค่าขนส่ง และภาษีนำเข้าด้วย ซึ่งขณะนี้ค่าขนส่งสินค้า 1 กิโลกรัมไปอเมริกา โดยบริษัทขนส่งมีต้นทุนประมาณ 1,000 บาท ดังนั้น สินค้าเหล่านี้อาจจะมีราคาแพงกว่าที่ซื้อจากร้านในอเมริกาได้ ในระยะยาวแล้วต้นทุนการผลิตของไทยอาจสูงกว่าอินเดีย หรือจีน เพราะค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นของไทย ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกด้วยการขายของถูกได้อีกต่อไป ดังนั้น ผู้ขายจึงควรเน้นการตั้งราคาให้เหมาะสมกับคุณภาพของสินค้า หมั่นตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงราคาของคู่แข่งใกล้เคียง นอกจากนี้ ในการขายสินค้าบางชนิดเช่นเครื่องประดับที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา อาจทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูง เพราะมีการคำนวณน้ำหนักขั้นต่ำในการส่ง ผู้ขายจึงควรนำเสนอสินค้าเครื่องประดับเป็นชุด แทนที่จะแยกขายเป็นชิ้น ซึ่งเมื่อรวมราคาเป็นชุดแล้วจะทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่าราคาไม่สูงนัก ในกรณีที่ผู้ขายทราบตลาดหลักของตนว่าเป็นกลุ่มลูกค้าจากประเทศอะไรแล้ว อาจทำการคำนวณค่าจัดส่งรวมเข้าไปในราคาสินค้าเลย เพื่อจะช่วยร่นกระบวนการตัดสินใจซื้อของลูกค้าให้สั้นขึ้น สำหรับการตั้งราคาเพื่อจำหน่ายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น ผู้ขายจะต้องมีการคำนวณต้นทุนให้รอบคอบ หรือความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การที่ลูกค้าทำรายการซื้อด้วยบัตรเครดิตนั้น ธนาคารจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 3% ซึ่งผู้ขายจะต้องนำค่าใช้จ่ายนี้ไปรวมเป็นต้นทุนก่อนตั้งราคาสินค้าด้วย

ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place)

คำกล่าวที่ว่า ทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ดูจะเป็นคำพูดที่มีน้ำหนักอยู่เสมอในโลกธุรกิจ เพราะทำเลการค้าที่ดีหลายแห่งจะมีค่าจอง ค่าเซ้งในราคาที่สูงลิบลิ่ว เนื่องจากเป็นที่ต้องการของคู่แข่งหลายราย และทำเลการค้าที่ดีก็มีอยู่จำกัด ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กหลายรายจึงต้องเริ่มธุรกิจด้วยการใช้รถเข็น หรือเปิดแผงลอยย่อยๆ ก่อน ถ้าจะเทียบกับเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การหาทำเลอาจจะเทียบเคียงได้กับการตั้งชื่อร้านค้า ที่ศัพท์ทางอินเทอร์เน็ตเรียกว่า โดเมนเนม (Domain Name) ในทางอินเทอร์เน็ตนั้นไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพ ดังนั้นทำเลการค้าทางอินเทอร์เน็ตจึงไม่ได้หมายถึงที่ตั้งของร้าน ร้านค้าอาจใส่ข้อมูลสินค้าบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย อเมริกา หรือ อินเดีย ได้ โดยลูกค้าไม่ได้สนใจมากนัก และส่วนใหญ่แล้วไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของร้านค้าอยู่ที่ ประเทศใด แต่ลูกค้าเข้าสู่ร้านค้าโดยจดจำชื่อร้าน เช่น Amazon.com หรือ Hotmail.com ชื่อร้านค้าเหล่านี้เปรียบเสมือนยี่ห้อสินค้า และชื่อเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดบนโลกอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับทำเลทองย่านการค้า การจดทะเบียนโดเมนเนมจึงควรเลือกชื่อที่จดจำได้ง่าย แต่ส่วนใหญ่ชื่อที่ดี มักจะถูกจดไปหมดแล้ว ในปัจจุบันจึงเกิดธุรกิจซื้อขายเฉพาะชื่อโดเมนเนมเกิดขึ้นอย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยไม่ควรยึดเว็บไซต์เป็นช่องทางการค้าเพียงอย่างเดียว หากมีโอกาสเปิดช่องทางการค้าตามวิธีปกติได้ก็ควรจะทำควบคู่กันไปด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ การมีเว็บไซต์นั้น จะเป็นประโยชน์ต่อการให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่ลูกค้าก่อนซื้อ หรือมีการซื้อซ้ำได้ หลังจากที่ลูกค้าได้ซื้อสินค้าจากช่องทางปกติไปทดลองใช้จนพอใจแล้ว

การส่งเสริมการขาย (Promotion)

          การส่งเสริมการขายบนเว็บไซต์เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกับการค้าปกติ โดยรูปแบบมีตั้งแต่การจัดชิงรางวัล การให้ส่วนลดพิเศษในเทศกาลต่างๆ รวมทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าเข้ามาเลือกสินค้าที่เว็บไซต์ นอกจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อปกติ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์แล้ว ยังมีการโฆษณาด้วยรูปแบบที่เรียกว่าป้ายโฆษณาบนเว็บไซต์ (Banner Advertising) ซึ่งมีลักษณะคล้ายสื่อสิ่งพิมพ์ แต่จะแสดงบนเว็บไซต์อื่น การโฆษณาลักษณะนี้จะคิดค่าใช้จ่ายตามจำนวนครั้งที่แสดงโฆษณาโดยนับเป็นจำนวน หลักพันครั้ง หรือ CPM ซึ่งมาจากคำว่า Cost Per Thousand Impressions วิธีการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ที่ได้ผลดีอีกวิธีหนึ่งคือ การลงทะเบียนในเว็บไซต์เครื่องมือค้นหา เช่น Yahoo.com, Google.com หรือ การประมูลขายสินค้าในเว็บไซต์ eBay.com นอกจากการประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีต่างๆ ให้ลูกค้ารู้จักเว็บไซต์แล้ว บริการหลังการขายก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการที่ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าครั้งหนึ่งนั้น ไม่ได้หมายถึงการที่ผู้ขายจะได้รับเพียงคำสั่งซื้อเดียว หากมีบริการที่ดี เช่น การส่งของแถม หรือคูปองส่วนลดไปพร้อมกับสินค้า จะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ และอาจกลับมาซื้อซ้ำ หรืออาจบอกต่อเพื่อนฝูงให้มาใช้บริการร้านออนไลน์ของผู้ขายต่อไปได้

หลักสูตรที่ 2 การขายบนแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์

คำอธิบายหลักสูตร ศึกษาเกี่ยวกับการขายบนแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์ วิธีการทำตลาดออนไลน์ ช่องทางการทำตลาดออนไลน์ เทคโนโลยีทางการตลาด
วัตถุประสงค์การเรียนรู้ 1. เพื่อให้เข้าใจความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์
2. เพื่อให้เข้าใจช่องทางการทำตลาดออนไลน์
3. เพื่อให้เข้าใจและสามารถใช้เครื่องมือการตลาดออนไลน์
วิธีการพัฒนา 1. อธิบายและยกตัวอย่างเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นของการตลาด
2. ฝึกทักษะการกำหนดส่วนประสมทางการตลาด
เกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จ 1. ความเข้าใจเกี่ยวกับการตลาดเบื้องต้น
2. ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดส่วนประสมทางการตลาด
วิธีวัดผล ตอบคำถามตามแบบทดสอบ
ระยะเวลา 180 นาที
เครื่องมือ อุปกรณ์ 1. เอกสารประกอบการสอน
2. กระดานฟลิปชาร์ท พร้อมกระดาษ

ส่วนที่ 2 เนื้อหาหลักสูตร

ความสำคัญและประโยชน์ของการตลาดออนไลน์

องค์กรธุรกิจคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตของโลกดิจิทัล ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นองค์กรธุรกิจเองก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ด้วยการปรับตัวมาทำการตลาดออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ข้อดีของการทำการตลาดออนไลน์ มีดังนี้

  1. สร้างตัวตนในแบรนด์สินค้าและบริการได้ง่ายมากขึ้น โดยการเลือกนำเสนอความเป็นตัวตนของแบรนด์ผ่านการใช้คอนเทนท์การตลาดไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ทันที
  2. ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้มากขึ้นโดยการให้ นั่นก็คือ ให้สาระความรู้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ รวมถึงสิ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้
  3. เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง การทำตลาดออนไลน์นั้นสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา Google โดยเลือก Google Ads หรือ Google Display Network เราสามารถเลือกได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายและคุ้มค่า
  4. สามารถดึงดูดลูกค้ารายใหม่ให้เกิดความสนใจ เพราะการทำตลาดออนไลน์ไม่ได้จำกัดพื้นที่ในการสื่อสาร สามารถหาลูกค้าใหม่ได้ทั่วทุกมุมโลก
  5. สร้างความภักดีต่อแบรนด์ได้ง่ายขึ้น แบรนด์สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอ ด้วยการโต้ตอบและแนะนำสินค้าพร้อมทั้งสามารถจัดส่งแคมเปญส่งเสริมการขายให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง
  6. เป็นตัวกลางในกระจายข่าวสารและโปรโมชั่นของสินค้าและบริการได้อย่างรวดเร็ว และเป็นวงกว้าง สามารถวัดผลได้ง่าย หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นยอด Reach, View, Impressions, Click และรวมไปถึง ROI ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์วัดผลทางการตลาดได้
  7. ต้นทุนต่ำ เนื่องจากการนำเสนอสินค้าและบริการนั้นสามารถนำเสนอได้ทั้งรูปแบบวีดีโอ และภาพนิ่ง ซึ่งเราสามารถเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนเป็นครั้ง ก็สามารถใช้ได้ตลอด
  8. การตอบกลับข้อความสะดวก รวดเร็ว เพราะการตอบกลับคือการแสดงความใส่ใจในการแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า จึงทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์

ช่องทางการทำตลาดออนไลน์

          ไม่ว่าธุรกิจไหนในยุคนี้ก็ทำออนไลน์ แต่ก็ใช่ว่าทุกธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จกันได้ง่าย ๆ แม้ว่าทุกวันนี้จะมีเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ (Marketing Tech) เพื่อเป็นตัวช่วยของธุรกิจคุณได้มากมายผ่านช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ต่างๆ คำถามที่น่าสนใจก็คือ “นอกจากขายของออนไลน์อะไรดีแล้ว ขายผ่านช่องทางไหนดีที่สุด?”

          3 ช่องทางหลัก ทั้งการขายผ่านเว็บไซต์ขายของออนไลน์ ขายสินค้าออนไลน์ผ่าน Social Media ต่างๆ และการเปิดร้านค้าออนไลน์บน E-Marketplace ว่าธุรกิจแบบไหน ใช้อย่างไรให้สำเร็จ มาเปรียบเทียบแบบชัดๆ ทั้งข้อดี-ข้อเสีย ความท้าทายแต่ละช่องทาง ให้เจ้าของธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์

ข้อดีของการขายสินค้าออนไลน์บนเว็บไซต์

  1. มีความน่าเชื่อถือ เพราะสามารถใส่ข้อมูลที่เป็นทางการของธุรกิจในหน้าเว็บไซต์ได้
  2. สร้าง Brand Loyalty ให้ลูกค้าหรือผู้ที่สนใจกลับมาซื้อซ้ำได้ง่าย ยิ่งถ้าคุณสามารถตั้งชื่อเว็บไซต์ของคุณเป็นชื่อเดียวกับแบรนด์ได้ ก็จะยิ่งสร้างการจดจำแบรนด์ของคุณได้ง่ายขึ้น แถมการมีโดเมนเนมนั้นยังสามารถลอกเลียนได้ยากอีกด้วย
  3. ลูกค้าสามารถค้นหาข้อมูลธุรกิจ หรือสินค้าของคุณผ่าน Google ที่เป็น Search Engine ได้ง่ายขึ้น และ Google นั้นยังสามารถทำงานได้ดีกับเว็บไซต์ เพราะเว็บไซต์ขายของออนไลน์สามารถทำ SEO ให้มี Keywords ที่ทำให้เว็บไซต์ของคุณเสิร์ช Google ติดในหน้าแรกได้
  4. มี Shopping Cart (ตะกร้าสินค้า) หรือ ฟังก์ชั่นสำหรับการติดต่อช่องทางอื่น ๆ เพื่อให้ลูกค้าสอบถามสินค้าและบริการของคุณเพิ่มเติมได้
  5. ทำ Remarketing / Custom Audience / Lookalike ซึ่งเป็นการทำโฆษณาขั้น Advance เพื่อให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น โดยใช้ข้อมูลของคนที่เคยมาเยี่ยมเว็บไซต์ของคุณในการทำโฆษณาเป็นหลัก
  6. สามารถติดตั้งระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่ดีได้ เช่น ระบบ CRM, ระบบ Dynamic Retargeting อ่านข้อมูลของการทำR-Dynamic ระบบโฆษณา Dynamic Retargeting ได้โดยการทำ Google Analytics เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าของคุณได้
  7. ไม่เสียส่วนแบ่งจากการขาย

ความท้าทายในการทำเว็บไซต์

  1. Content มักไม่อัพเดท เพราะการทำงาน Content ผ่านเว็บไซต์อาจมีความยุ่งยากมากกว่าการทำ Content บน Social ต่าง ๆ
  2. การออกแบบมักไม่ค่อยสวย ยิ่งถ้าต้องการให้เว็บไซต์มีคุณสมบัติ User Friendly คือง่ายต่อการใช้งานหรือช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดการสั่งซื้อได้ง่ายแล้ว อาจจะต้องจ้าง UX UI Design ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
  3. Visitor หรือคนเข้าเว็บไซต์มีจำนวนน้อย จนไม่ก่อให้เกิดผลในการเพิ่มยอดขายของร้านค้าออนไลน์ของคุณ จนหลายธุรกิจอาจถอดใจกับการทำเว็บไซต์ได้
  4. ต้องการ Technical Support เช่น เว็บไซต์ขายของออนไลน์ ต้องไม่ล่มบ่อย ประมวลผลการทำงานเร็ว ฯลฯ
  5. ไม่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้เอง ใช้ตั้งรับผู้มาเข้าเยี่ยมชม

ข้อดีของการขายสินค้าออนไลน์ใน E-Marketplace

  1. หาลูกค้าใหม่ได้ง่ายและมากกว่า เพราะ Traffic ของลูกค้าที่เข้ามาใน E-Marketplace มีจำนวนมากต่อวัน เพราะแต่ละที่มีการโปรโมทเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ
  2. เริ่มต้นสมัครใช้งานได้ง่าย
  3. มีโอกาสทำการตลาดกับ Traffic จำนวนมากที่เข้ามาใน E-Marketplace ได้ เช่น การซื้อ Banner Ad, การอยู่ในหน้าแรกหรือการเป็นร้านค้าแนะนำของ E-Marketplace เป็นต้น
  4. มี E-Marketplace ให้เลือกใช้บริการหลากหลาย ซึ่งคุณสามารถไปเปิดร้านค้าออนไลน์ได้ทุก E-Marketplace เพื่อเพิ่มโอกาสการขายได้มากขึ้น

ความท้าทายของการทำ E-Marketplace

  1. เสียค่า Commission ในการขายสินค้า (บางแห่งอาจจะฟรีหรือคิดน้อยมากในช่วงแรก)
  2. ต้องทำการตลาดควบคู่ เพราะหากเปิดร้านไว้เฉย ๆ มักไม่ได้ผล เพราะมีการแข่งขันสูง
  3. ลูกค้าเห็นสินค้าคู่แข่งด้วย ถ้าราคาสินค้าของคุณแพงกว่าอาจจะทำให้เสียโอกาสการขายได้
  4. สร้าง Brand Loyalty ยาก เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าจะจดจำแค่ชื่อของ E-Marketplace มากกว่าการจดจำชื่อร้านของคุณ
  5. ร้านค้าออนไลน์มีอำนาจการต่อรองกับ E-Marketplace ได้น้อย

ข้อดีของการขายสินค้าออนไลน์ใน Social Media

  1. ใช้งานง่าย โพสต์ง่าย ติดต่อกับลูกค้าง่าย
  2. สามารถสร้างสรรค์รูปแบบของ Content ได้หลายรูปแบบ ทั้ง VDO แนวตั้ง แนวนอน, ภาพเดี่ยว, อัลบั้มภาพ Content หลากหลายรูปแบบ
  3. หาลูกค้าใหม่ ๆ ได้ไม่จำกัด โดยการทำโฆษณาออนไลน์
  4. กระตุ้นความต้องการการซื้อได้ดี (สำหรับสินค้ากลุ่มที่ซื้อสินค้าด้วยอารมณ์ เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น หรือเครื่องสำอางต่าง ๆ)
  5. มีโอกาสเกิด Viral (แต่ค่อนข้างยาก)

ความท้าทายของการขายสินค้าออนไลน์ใน Social Media

  1. โพสต์ Content แล้ว ไม่ได้ Organic Reach เพราะการปรับเปลี่ยนอัลกอริทึ่มของ Social Media ต่าง ๆ ทำให้ร้านค้าออนไลน์ ไม่สามารถเข้าถึง Fan Page ได้ทุกคน (ปัจจุบัน Facebook ให้เพจต่าง ๆ เข้าถึงคนที่เป็นแฟนเพจได้ไม่เกิน 1% ที่เป็น Organic แบบไม่เสียค่าโฆษณา)
  2. ค่าใช้จ่ายในการทำโฆษณาสูงขึ้น เพราะการแข่งขันของการขายสินค้าออนไลน์สูงขึ้น
  3. อัลกอริทั่มของการโฆษณา (Ad Algorithm) เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ร้านค้าออนไลน์ตามไม่ทัน
  4. ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำ Creative Content สำหรับการโฆษณาออนไลน์ เพื่อให้ดึงดูดและโดนใจกับกลุ่มเป้าหมาย
  5. การหา Admin ที่เก่ง มีใจรักบริการ ให้ข้อมูลถูกต้องและเร็ว หาได้ยาก

ให้คะแนนนวัตกรรมนี้

คลิกที่ดาวเพื่อให้คะแนน

คะแนนเฉลี่ย 0 / 5. จำนวนการโหวต: 0

No votes so far! Be the first to rate this post.