RMUTP

แพลตฟอร์มการเรียนรู้

นวัตกรรมชุมชน

ศูนย์การเรียนรู้


RMUTP community innovation learning platforms (RMUTP CILP)

นวัตกรรมคู่มือการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม

1. ความเป็นมา

โครงการวิจัยการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนใน 10 ตำบล ของ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 10 ตำบล ประกอบด้วย   1). องค์การบริหารส่วนตำบลบางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
2). องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหลม อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 3). องค์การบริหารส่วนตำบลขุนไทร อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 4). องค์การบริหารส่วนตำบลบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 5). เทศบาลตำบล บางตะบูนออก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 6). องค์การบริหารส่วนตำบลท่าแร้ง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 7). องค์การบริหารส่วนตำบลปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 8). องค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 9). องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 10). องค์การบริหารส่วนตำบล ท่าแร้งออก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นการจัดการโครงการย่อยทั้งหมดเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและสร้างผลผลิต เป้าหมาย ผลลัพธ์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อำเภอบ้านแหลม ทั้ง 10 ตำบล ผลลัพธ์จากโครงการย่อยดังกล่าวก่อให้เกิดนวัตกรรมทั้งสิ้น 15 นวัตกรรม มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนใน 10 ตำบล ของ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 2) เพื่อเชื่อมโยงโครงการวิจัยย่อยทั้งหมดในโครงการชุดให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าที่สมดุล 3) เพื่อสร้าง Learning and innovation platformและ 4) เพื่อจัดการการถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของกลุ่มเป้าหมายจากทุกโครงการย่อย

จากการดำเนินการวิจัยประกอบไปด้วย 9 โครงการย่อย คือ 1) การสร้างนวัตกรรมอาหารเพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 2) การออกแบบและสร้างเครื่องอัดรีดร้อนสำหรับการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 3) การออกแบบและสร้างระบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์สำหรับการเกษตรอินทรีย์ 4) การออกแบบและสร้างเตาเผาขยะไร้มลพิษระดับครัวเรือนและชุมชน 5) การออกแบบและสร้างทุ่นดักขยะพร้อมอุปกรณ์เสริมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับชุมชน 6) การออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทางทะเลบนฐานอัตลักษณ์วิถีชีวิตของชุมชน 7) การพัฒนารูปแบบการตลาดแบบมีส่วนร่วมสำหรับอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทางทะเล 8) การออกแบบและสร้างโรงเรือนอบแห้งผลิตภัณฑ์แปรรูปทางทะเลสำหรับอุตสาหกรรมครัวเรือนบนพื้นที่ที่จำกัด และ 9) การจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนใน 10 ตำบล ของ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ผลลัพธ์จากโครงการย่อยดังกล่าวจะก่อให้เกิดนวัตกรรมทั้งสิ้น 15 นวัตกรรม ได้แก่ 1) นวัตกรรมอาหารเพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ (3 สูตรอาหาร)
2) นวัตกรรมเครื่องอัดรีดร้อนสำหรับการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 3) นวัตกรรมเครื่องปั้นเมล็ดปุ๋ยแบบจานหมุน 4) นวัตกรรมเครื่องผสมปุ๋ยแบบประหยัดพลังงานด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน 5) นวัตกรรมเครื่องย่อยวัตถุดิบแบบประหยัดพลังงาน 6) นวัตกรรมเครื่องร่อนคัดขนาดเม็ดปุ๋ย 7) นวัตกรรมเตาเผาขยะไร้มลพิษระดับครัวเรือนและชุมชน 8) นวัตกรรมทุ่นดักขยะรีไซเคิล 9) นวัตกรรมเครื่องยกทุ่นดักขยะรีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับชุมชน 10) นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 11) นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ 12) นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทางทะเล 13) นวัตกรรมรูปแบบการตลาดแบบมีส่วนร่วมสำหรับอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทางทะเล 14) นวัตกรรมการออกแบบและสร้างโรงเรือนอบแห้งผลิตภัณฑ์แปรรูปทางทะเลสำหรับอุตสาหกรรมครัวเรือนบนพื้นที่ที่จำกัด และ 15) นวัตกรรมคู่มือการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม

2. บริบทปัญหาเชิงพื้นที่

ประเด็นด้านขยะ แม้ว่าจังหวัดเพชรบุรีไม่ได้เป็นพื้นที่จังหวัดที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม แต่ก็ประสบปัญหาด้านขยะ เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ครบในทุกรูปแบบ มีปริมาณนักท่องเที่ยวเข้ามาในแต่ละวันจำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐของพื้นที่พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและตั้งเป็นนโยบายสำคัญของจังหวัด มีโครงการรนณรงค์ มีกลุ่มจิตอาสาพัฒนาเมืองเพชรบุรี วิธีการกำจัดขยะโดยทั่วไปคือการฝังกลบ หรือเผา ก็จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมตามมา โดย อบจ. หรือ อบต.บางแห่งก็ไม่มีการจัดเก็บขยะ แต่ละครัวเรือนกําจัดเองโดยการเผา หากใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยึดหลัก Circular economy จะสามารถสร้างรายได้ขึ้นมาให้กับชุมชน

– ในตลาดสดจังหวัดเพชรบุรีหรือในตลาดนัดจะมีวัตถุดิบทางการเกษตรเหลือทิ้งและไม่สามารถนำไปขายเพื่อสร้างมูลค่าได้ แต่อาจถูกนำไปขายเพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์ในราคาที่ถูกมาก แต่สามารถนำมาทำเป็นอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงของกลุ่มผู้รักสัตว์เลี้ยงที่มีคุณค่าสูง ส่งขายต่างประเทศได้
– การนำวัตถุดิบเหลือทิ้งมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ จะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและนำไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมของจังหวัดได้ เกิดการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ได้ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
– ทั้งขนมหวานสดและแห้งกรอบ จังหวัดเพชรบุรีนับได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงอย่างมากด้านขนมหวานเมืองเพชรบุรี ขนมหวานเพชรบุรีมีผลิตในทุกอำเภอ แต่จะมีการผลิตจำนวนมากในตัวอำเภอเมือง และในกระบวนการผลิตขนมหวานซึ่งใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น จะมีส่วนเหลือทิ้ง เช่น เปลือกไข่จำนวนมาก และไม่มีที่ทิ้ง หรือกำจัดอย่างถูกวิธี ส่งกลิ่นเหม็น ขยะเปลือกไข่ถูกนำไปทิ้งตามท้องไร่ท้องนาของชาวบ้าน และสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาหลักด้านสิ่งแวดล้อมของอำเภอเมืองเพชรบุรี
– ขยะในแม่น้ำลำคลองเพชรบุรี ขยะในป่าชายเลน ขยะในทะเล ดังภาพที่ 1 มีขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ เช่น ขวดและถุงพลาสติกต่าง ๆ ขวดแก้วปิดฝา เป็นต้น ปัญหาใหญ่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งเป็นนโยบายสำคัญและเร่งด่วน ยกตัวอย่างหน่วยงาน อบต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี โดยท่านนายกสมชัย วัฒนธรรม มีนโยบายเร่งด่วนในการบริหารจัดการขยะในแม่น้ำเพชรบุรีก่อนที่ขยะจะไหลลงสู่ทะเล และคัดแยกขยะเพื่อสร้างรายได้ นำขยะไปสู่กระบวนการรีไซเคิล นวัตกรรมทุ่นเก็บขยะและอุปกรณ์ส่วนต่อเพิ่มเพื่อความสะดวกในการเก็บขยะเป็นสิ่งที่หน่วยงานและชุมชนต้องการอย่างมาก

ประเด็นด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป เนื่องด้วยชุมชนในตำบลต่าง ๆ ของอำเภอบ้านแหลม ประกอบอาชีพประมงน้ำเค็ม มีการแปรรูปอาหารทะเลเป็นจำนวนมาก เช่น การตากแห้ง ไม่ว่าจะเป็น ปลาเค็มจากปลาชนิดต่าง ๆ ปลาเกล็ดขาวแห้ง ปลากะตักแห้ง ปลาไส้ตันแห้ง ปลาจวดแห้ง ปลากุเลาเค็มแห้ง ปลาหวานแพตากแห้ง ปลาข้างเหลืองแพแห้ง หอยแมลงภู่ตากแห้ง ปลาอินทรีย์เค็มแห้ง ปลาวงแห้ง ปลาหมึกแห้ง กุ้งแห้ง ปลาทูแร่แดดเดียว กะปิ และอื่น ๆ อีกมากมาย ดังภาพที่ 2 มีประเด็นปัญหา ดังนี้

– ไม่มีโรงเรือนตากแห้งที่ถูกสุขลักษณะ ดังภาพที่ 3 และภาพที่ 4 ผลกระทบที่ตามมาคือ แมลงซึ่งเป็นสัตว์นำเชื้อโรค เช่น แมลงวัน แมลงวันหัวเขียว แมลงหวี่ จะเข้ามาตอมและปล่อยไข่ไว้ให้เจริญเติบโตเป็นหนอน และอาจนำมาซึ่งเชื้อโรคต่าง ๆ เป็นต้น อีกประการคือ ฝุ่นและควันจากรถยนต์ที่วิ่งสัญจรไปมาจำนวนมากและต่อเนื่อง ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ปนเปื้อน ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ลดความมั่นใจของผู้บริโภค และหากได้พบเห็นกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จะไม่ซื้อกลับบ้าน และส่งผลต่อรายได้ของชุมชนในระยะยาว
– ไม่มีพื้นที่ตากที่พอเพียง ชุมชนจึงต้องลุกล้ำพื้นที่สาธารณะ เช่น สองฝั่งข้างถนน แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐเข้ามาขอความร่วมมือก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้อย่างเป็นรูปธรรม
– กำลังการผลิตของการแปรรูปสัตว์ทะเลในช่วงฤดูฝนจะลดลง เนื่องด้วยฝนตก ความชื้นสูง ต้องรอแสงแดดจากดวงอาทิตย์เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ชุมชนไม่อาจควบคุมได้
ภาพที่ 1 ขยะในแม่น้ำ พื้นที่ทะเลแหล่งท่องเที่ยว และบนบกในจังหวัดเพชรบุรี
ภาพที่ 2 ตัวอย่างอาหารทะเลตากแห้ง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
ภาพที่ 3 อุปกรณ์สำหรับการตากอาหารทะเลตากแห้งที่ขอบถนนของชุมชนประมง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
ภาพที่ 4 ฝุ่นและควันปนเปื้อนกับผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลของชุมชนประมง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นประเด็นที่ชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่มีความต้องการให้ภาคการศึกษาเข้ามาช่วยพัฒนาแก้ไขและปรับปรุง จากการที่ มทร.พระนคร เข้าศึกษาและหารือร่วมกับชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ ทำการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับองค์การบริหารส่วนตำบลต่าง ๆ ต่างมีความต้องการที่ตรงกัน โครงการ “การพัฒนานวัตกรรมชุมชนเพื่อการจัดการและสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ชุมชนจังหวัดเพชรบุรี” เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะช่วยสร้างนวัตกรรมชุมชนให้สามารถแก้ปัญหาชุมชนและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะถูกออกแบบและสร้างบนฐานเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถต่อยอด พัฒนาขึ้นได้เองต่อไป และมีการส่งถ่ายชุดความรู้จากการวิจัยทั้งหมดที่ใช้สร้างนวัตกรรม เมื่อชุมชนสามารถสร้างนวัตกรรมและต่อยอดได้เองแล้ว นวัตกรรมก็จะถูกยกระดับ ชุมชนก็จะมีศักยภาพในการสร้างความเข้มแข็งและสร้างเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อไป

3. วัตถุดิบในพื้นที่ (อธิบายเชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบ ระบุแหล่งซื้อขายวัตถุดิบ ถ้ามี)

4. แนวทางการออกแบบนวัตกรรม

ภายใต้โครงการชุดจึงต้องมีโครงการย่อยจำนวน 8 โครงการที่สามารถนำไปใช้ได้ในตำบลต่าง ๆ ที่กำหนดพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ก็สามารถนำไปขยายผลปรับใช้ได้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้เช่นกัน โครงการย่อยจะถูกออกแบบมาบนพื้นฐานประเด็นปัญหาที่กล่าวมา และบนความต้องการของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย ดังภาพ ที่ 5 นำเสนอความเชื่อมโยงของ 9 โครงการย่อย โจทย์วิจัยจึงเป็นการสร้าง Learning and innovation platform การสร้างนักนวัตกรชาวบ้าน การถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของกลุ่มเป้าหมาย และได้นวัตกรรมที่นำไปสู่การทำแผนพัฒนาตำบล

ภาพที่ 5 กรอบแนวคิดในการเชื่อมโยง 9 โครงการย่อย

5. นวัตกรรมที่นำมาใช้ แสดงภาพแบบจำลองพร้อมคำอธิบายการทำงานเบื้องต้น

เริ่มจากลงพื้นที่รับทราบปัญหาและความต้องการเพื่อสร้างโจทย์ปัญหาวิจัย รับทราบข้อมูลบริบท ปัญหาเชิงลึกในพื้นที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์วิถีชีวิตของชุมชน 10 ตำบล ของ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี จากนั้นสรุปผลและกำหนดแนวทางการทำวิจัยจากการระดมความคิดร่วมกับชุมชน และกับโครงการย่อยทั้งหมด กำหนดแบบฟอร์ม เพื่อวิเคราะห์คุณภาพ/คุณลักษณะของตัวแปรที่มีผลกับปัญหาและการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ เพื่อออกแบบระบบการจัดการทรัพยากร ดังภาพที่ 6 และภาพที่ 7 ดำเนินการออกแบบและสร้าง Learning and innovation platform จาก 8 โครงการย่อย http://innovations.rmutp.ac.th เชื่อมโยงโครงการวิจัยย่อยทั้งหมดในโครงการชุดให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าที่สมดุล ดังภาพที่ 8 สร้างศูนย์การเรียนรู้และสร้างนักนวัตกรในพื้นที่ ที่พร้อมต่อยอดองค์ความรู้และสามารถถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของกลุ่มเป้าหมาย เน้นการปรับปรุงแก้ไข และการใช้งาน ให้สามารถช่วยตนเองได้ จากนั้นนำนวัตกรรมเข้าสู่การทำแผนพัฒนาตำบล/ท้องถิ่นที่สามารถเชื่อมต่อกับแผนพัฒนาจังหวัด โดยทำการประสานเข้ากับองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 10 ตำบล อำเภอบ้านแหลม และเชื่อมต่อส่งมอบไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี

ภาพที่ 6 ดำเนินการออกแบบและสร้าง Learning and innovation platform
ภาพที่ 7 สร้าง Learning and innovation platform http://innovations.rmutp.ac.th
ภาพที่ 8 สร้างศูนย์การเรียนรู้และสร้างนักนวัตกรในพื้นที่

6. สรุปผลการวิจัย

ผลการดำเนินงานจากการลงพื้นที่ 10 ตำบลในอำเภอบ้านแหลม โดยการประสานหน่วยงานท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่วิจัยร่วมลงพื้นที่ชุมชน เพื่อศึกษารับทราบปัญหาและความต้องการ ในการพัฒนาชุมชนด้วยนวัตกรรมเพื่อการจัดการและสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ชุมชนจังหวัดเพชรบุรี โดยมีแนวทางการพัฒนาโจทย์ปัญหาวิจัยจากศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อจัดทำ   แนวทางการทำวิจัยในพื้นที่ 10 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านแหลม ตำบลท่าแร้ง ตำบลท่าแร้งออก ตำบลบางตะบูน ตำบลบางตะบูนออก ตำบลบางขุนไทร ตำบลแหลมผักเบี้ย ตำบลบางครก ตำบลปากทะเล และตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยหลังจากที่ได้ประเมินศักยภาพโครงการและโจทย์ปัญหาวิจัยเชิงพื้นที่แล้ว จึงทำการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงกำหนดเป็นปัจจัยให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษา จากนั้นสรุปผลและกำหนดแนวทางการทำวิจัย จากการระดมความคิดร่วมกับผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล หัวหน้าชุมชน กลุ่มชุมชน และโครงการย่อยทั้งหมด และใช้เครื่องมือวิจัยที่ได้การสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์ และจากเอกสาร ทั้งจากประชาชนอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการกับผู้นำชุมชน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มเกษตรกร ชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ประกอบการขนาดเล็กในชุมชนส่วนใหญ่ ขาดความรู้ความเข้าใจในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ถูกต้อง ขาดการวางแผน ขาดการแนะนำจากหน่วยราชการเท่าที่ควร โดยจะพบได้ว่ามีการใช้เครื่องมือนวัตกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงความพยามในการหารายได้เพิ่มจากการปรับปรุงวิถีการทำงานให้ดีขึ้น เพื่อที่จะทำให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะลดค่าใช้จ่ายลงและเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น เพราะยังขาดการพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาพื้นที่ด้วยนวัตกรรมจากโจทย์วิจัยที่ได้พัฒนารูปแบบการเข้าถึงพื้นที่และมุ่งเน้นการปฏิบัติงานเชิงพื้นที่ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับต้นน้ำ ถึงระดับปลายน้ำ ภายใต้การดำเนินการวิจัยประกอบไปด้วย 8 โครงการย่อย และจากการประเมินศักยภาพและสภาพแวดล้อมของโครงการวิจัยการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนใน 10 ตำบล ของอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยการวิเคราะห์สภาพการณ์เชิงพื้นที่ในปัจจุบัน โดยนําเครื่องมือทางการบริหาร SWOT Analysis มาใช้เพื่อค้นหาศักยภาพในการบริหารจัดการด้านการดําเนินงาน ซึ่งผลการวิเคราะห์หาจุดอ่อน มีดังนี้ 1. การจัดสรรงบประมาณบางส่วนยังไม่สอดคล้องกับระยะเวลาและกิจกรรมที่ดำเนินการ 2. ขาดการติดต่อประสานงานกับโครงการย่อยในการลงพื้นที่ 3. ขาดการประชาสัมพันธ์โครงการในระดับพื้นที่ และในส่วนการพัฒนาพื้นที่ โดยการวิเคราะห์หาจุดแข็งหรือจุดเด่นภายของพื้นที่ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ดําเนินงานบรรลุผลสัมฤทธิ์ และจุดแข็ง มีดังนี้ 1. เกิดการรวบรวมองค์ความรู้ของนวัตกรรม อำเภอบ้านแหลม 2. เกิดการสร้างนวัตกรรม 3. เกิดการบูรณาการและเชื่อมโยงโครงการ 4. มีหน่วยงานที่บริหารจัดการโครงการที่ชัดเจน 5. มีความพร้อมของบุคลากรและเทคโนโลยีในการต่อยอดการบริหารโครงการ 6. มีระบบสารสนเทศที่มีความสะดวกรวดเร็วง่ายต่อการเข้าถึงและรองรับนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และหากพิจารณาถึงโอกาสพบว่า 1. มีภาคีเครือข่ายเพิ่มขึ้น 2. หน่วยงานในพื้นที่ให้ความร่วมมือและต่อยอดนวัตกรรมได้ 3. ปัญหาเชิงพื้นที่ในอำเภอบ้านแหลมส่งผลให้โครงการสามารถดำเนินการต่อยอดไปสู่นวัตกรรมอื่น ๆ และในส่วนอุปสรรคที่ทําให้การดําเนินงานไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ผล 1. การระบาดของไวรัสโควิด 2019 ในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งส่งผลต่อนักวิจัยและคณะทำงานในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลวิจัย

ผลการดำเนินงานเชื่อมโยงโครงการวิจัยย่อยทั้งหมดในโครงการชุดให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าที่สมดุล ซึ่งวัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือการเป็นโครงการจัดการโครงการย่อยทั้งหมด เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและสร้างผลผลิต เป้าหมาย ผลลัพธ์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อำเภอบ้านแหลม ทั้ง 10 ตำบล ผลลัพธ์จากโครงการย่อยดังกล่าวก่อให้เกิดนวัตกรรมทั้งสิ้น 15 นวัตกรรม และนำเทคโนโลยีที่ได้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชน กลุ่มเป้าหมาย/ผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม และคุณสมบัติของนักนวัตกรชาวบ้านในแต่ละตำบล จากการดำเนินการวิจัยประกอบไปด้วย 9 โครงการย่อย คือ 1. การสร้างนวัตกรรมอาหารเพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 2. การออกแบบและสร้างเครื่องอัดรีดร้อนสำหรับการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 3. การออกแบบและสร้างระบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์สำหรับการเกษตรอินทรีย์ 4. การออกแบบและสร้างเตาเผาขยะ      ไร้มลพิษระดับครัวเรือนและชุมชน 5. การออกแบบและสร้างทุ่นดักขยะพร้อมอุปกรณ์เสริมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับชุมชน 6. การออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทางทะเลบนฐานอัตลักษณ์วิถีชีวิตของชุมชน 7. การพัฒนารูปแบบการตลาดแบบมีส่วนร่วมสำหรับอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทางทะเล 8. การออกแบบและสร้างโรงเรือนอบแห้งผลิตภัณฑ์แปรรูปทางทะเลสำหรับอุตสาหกรรมครัวเรือนบนพื้นที่ที่จำกัด และ 9. การจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนใน 10 ตำบล ของ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยผลลัพธ์จากโครงการย่อยดังกล่าวจะก่อให้เกิดนวัตกรรมทั้งสิ้น 15 นวัตกรรม ได้แก่ 1. นวัตกรรมอาหารเพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ (3 สูตรอาหาร) 2. นวัตกรรมเครื่องอัดรีดร้อนสำหรับการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ  3. นวัตกรรมเครื่องปั้นเมล็ดปุ๋ยแบบจานหมุน 4. นวัตกรรมเครื่องผสมปุ๋ยแบบประหยัดพลังงานด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน 5. นวัตกรรมเครื่องย่อยวัตถุดิบแบบประหยัดพลังงาน 6. นวัตกรรมเครื่องร่อนคัดขนาดเม็ดปุ๋ย 7. นวัตกรรมเตาเผาขยะไร้มลพิษระดับครัวเรือนและชุมชน 8. นวัตกรรมทุ่นดักขยะรีไซเคิล 9. นวัตกรรมเครื่องยกทุ่นดักขยะรีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับชุมชน 10. นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 11.นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ 12. นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทางทะเล 13. นวัตกรรมรูปแบบการตลาดแบบมีส่วนร่วมสำหรับอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทางทะเล 14. นวัตกรรมการออกแบบและสร้างโรงเรือนอบแห้งผลิตภัณฑ์แปรรูปทางทะเลสำหรับอุตสาหกรรมครัวเรือนบนพื้นที่ที่จำกัด และ 15. นวัตกรรมคู่มือการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม แพลตฟอร์มศูนย์การเรียนรู้เพื่อการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้นวัตกรรมชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ RMUTP community innovation learning platforms (RMUTP CILP) เป็นระบบจัดเก็บข้อมูลชุมชนออนไลน์ (Online Learning Platform) ประกอบด้วยข้อมูลนวัตกรรม นักนวัตกรชุมชน การผลิตการสร้างนวัตกรรม และข้อมูลอื่น ๆ เป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งการกำหนดตัวชี้วัดสมรรถนะ และสร้างแบบสอบถาม ทำการรวบรวมเก็บข้อมูล เลือกใช้เครื่องมือห่วงโซ่คุณค่า (Network value chain) จากพื้นที่ที่มีความใกล้เดียวต่อเนื่องกัน มีบริบทเชิงพื้นที่ที่คล้ายคลึงกันและสร้าง Learning and innovation platform เชื่อมโยงโครงการวิจัยย่อยทั้งหมดในโครงการชุดให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าที่สมดุลเข้าด้วยกัน โดยเชื่อมโยงนวัตกรรมที่จะสร้างขึ้นและใช้ในพื้นที่ 10 ตำบล โดยดำเนินการออกแบบให้มีเงื่อนไขและมีลักษณะให้ผู้เรียนรู้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยระบบที่ใช้ในการเรียนรู้จะประกอบด้วยภาพ วีดีโอ คู่มือและแบบแปลนนวัตกรรม ข้อมูลนวัตกรรมในแต่ละพื้นที่โครงการทั้งหมดจะรวมเป็นแผนที่การจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนใน 10 ตำบล ของ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จากการรวบรวมข้อมูลนวัตกรรมของแต่ละโครงการ ลงใน Learning and innovation platform แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ http://innovations.rmutp.ac.th โดยเว็บไซต์ดังกล่าวจะมีการดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการย่อยที่ 9 จะทำหน้าที่เชื่อมโยงกิจกรรม ประเมินผล ติดตามผล และเก็บข้อมูล   นักนวัตกรในทุกโครงการย่อย พร้อมทั้งสร้างศูนย์การเรียนรู้และผนวกนวัตกรรมที่เกิดขึ้นให้กับศูนย์การเรียนรู้มีอยู่เดิม ใน 10 ตำบล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และพัฒนาแผนที่ฐานการเรียนรู้ชุมชนนวัตกรรม    ที่ได้รับการพัฒนามาจากชุดการเรียนรู้จากโครงการวิจัยย่อยที่ 1–8 ให้สามารถเชื่อมโยงกิจกรรมทั้งหมดของโครงการ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้แบบออฟไลน์ โดยฐานการเรียนต่าง ๆ จะมีที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนนวัตกรรม ณ องค์การบริหารส่วนตำบล 10 ตำบลของอำเภอบ้านแหลม โดยในการดำเนินการสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนนวัตกรรมนั้น จะใช้ระบบกลไกการทำงานร่วมกับสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลในการ  ร่วมคิด ร่วมสร้างศูนย์การเรียนรู้ ร่วมรับผลประโยชน์ในการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนภายหลังจากเสร็จสิ้นโครงการวิจัย ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบล 10 ตำบล จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะทำหน้าที่เป็น key man ที่สำคัญในการรับช่วงในระยะต่อไปในการบริหารแผนงาน แผนปฏิบัติการที่ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลและจังหวัดเพชรบุรี ที่จะต่อยอดโครงการชุดให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าที่สมดุลยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ผลการดำเนินงานการจัดการการถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของกลุ่มเป้าหมายทุกโครงการย่อย โดยการสร้างนักวิจัยชาวบ้าน นวัตกรชาวบ้าน ด้วยการทำการสอน แนะนำ ทดสอบระบบการทำงานร่วมกับผู้รับผิดชอบของชุมชน  ซึ่งถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของกลุ่มเป้าหมาย เน้นการปรับปรุงแก้ไข การใช้งาน และสร้างความยั่งยืนด้วยการให้นักนวัตกรสามารถจัดการตนเองได้หลังจากการสิ้นสุดการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการถ่ายทอดความรู้และสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชนได้ ซึ่งการถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละโครงการพื้นที่ ดังนี้      1. ตำบลบางครก จำนวน 2 นวัตกรรม ได้แก่ 1) นวัตกรรมทุ่นดักขยะรีไซเคิล จำนวน 1 ชุด และ 2) นวัตกรรมเครื่องยกทุ่นดักขยะรีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับชุมชน จำนวน 1 ชุด โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้แก่ ศูนย์จัดการขยะชุมชน 2. ตำบลบ้านแหลม จำนวน 2 นวัตกรรม ได้แก่  1) นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ปลาวง จำนวน 1 บรรจุภัณฑ์ และ 2)นวัตกรรมรูปแบบการตลาดแบบมีส่วนร่วมสำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทางทะเล จำนวน 1 รูปแบบ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม คือกลุ่มแปรรูปอาหารทะเล 3. ตำบลบางขุนไทร จำนวน 4 นวัตกรรม ได้แก่ 1) นวัตกรรมอาหารเพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ  จำนวน 3 สูตร 2)นวัตกรรมเครื่องอัดรีดร้อนสำหรับการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ จำนวน 1 เครื่อง 3) นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ จำนวน 1 บรรจุภัณฑ์ และ 4) นวัตกรรมรูปแบบการตลาดแบบมีส่วนร่วมสำหรับอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ จำนวน 1 รูปแบบ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาวของตำบลบางขุนไทร และกลุ่มเกษตรจุลินทรีย์บ้านดอนผิงแดด 4. ตำบลบางตะบูน นวัตกรรมเตาเผาขยะไร้มลพิษ จำนวน 1 เครื่อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนบางตะบูน 5. ตำบลบางตะบูนออก จำนวน        1 นวัตกรรม ได้แก่ นวัตกรรมเตาเผาขยะไร้มลพิษ 1 เครื่อง กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ จัดการปัญหาขยะระดับครัวเรือนและระดับชุมชน 6. ตำบลท่าแร้ง จำนวน 1 นวัตกรรม ได้แก่ นวัตกรรมเตาเผาขยะไร้มลพิษ จำนวน 1 เครื่อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีตำบลท่าแร้งออก 7. ตำบลปากทะเล จำนวน 3 นวัตกรรมได้แก่ 1) นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์หอยลายปรุงรส จำนวน 1 บรรจุภัณฑ์ 2) นวัตกรรมรูปแบบการตลาดแบบมีส่วนร่วมผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทางทะเล จำนวน 1 รูปแบบ 3) นวัตกรรมโรงเรือนอบแห้งผลิตภัณฑ์แปรรูปทางทะเล จำนวน 1 โรงกลุ่ม โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ กลุ่มแปรรูปอาหารทะเลตำบลปากทะเล 8. ตำบลบางแก้ว จำนวน 1 นวัตกรรม ได้แก่ นวัตกรรมเตาเผาขยะไร้มลพิษ จำนวน 1 เตา โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ การจัดการปัญหาขยะระดับชุมชน 9. ตำบลแหลมผักเบี้ย จำนวน 1 นวัตกรรม ได้แก่ 1) นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ปลกหมึกตากแห้ง จำนวน 1 บรรจุภัณฑ์ 2) นวัตกรรมรูปแบบการตลาดแบบมีส่วนร่วมสำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทางทะเล จำนวน 1 รูปแบบ 3) นวัตกรรมโรงเรือนอบแห้งผลิตภัณฑ์แปรรูปทางทะเล จำนวน 1 โรง โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ กลุ่มแปรรูปอาหารทะเลตำบลบากทะเล

การนำนวัตกรรมเข้าสู่การทำแผนพัฒนาตำบลท้องถิ่นที่สามารถเชื่อมต่อกับแผนพัฒนาจังหวัด โดยนำเสนอแผนพัฒนาขยายผลต่อยอดนวัตกรรมสู่องค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นดำเนินโครงการวิจัยทั้ง 10 ตำบล 8 โครงการวิจัยย่อย ซึ่งบรรจุในแผนปฏิบัติการ ปี 2564 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากการบริหารส่วนตำบลในพื้นดำเนินโครงการวิจัย (แผนปฏิบัติการพัฒนาขยายผลต่อยอดนวัตกรรมสู่องค์การบริหารส่วน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี) และในส่วนของการนำเสนอแผนพัฒนาขยายผลต่อยอดนวัตกรรม เพื่อขอการสนับสนุนจากจังหวัดเพชรบุรี ผ่านโครงการพัฒนาการเกษตรแบบครบวงจร สร้างเศรษฐกิจชุมชนจาก  ฐานเกษตร (โครงการที่ 6 ประเด็นการพัฒนาที่ 1 การพัฒนาความมั่งคงด้านเศรษฐกิจจากฐาน การท่องเที่ยว การค้า การบริการ และการเกษตร แบบครบวงจร แผนงานที่ 1 โครงการที่ 2 พัฒนาการเกษตรแบบครบวงจร สร้างเศรษฐกิจชุมชนจากฐานเกษตร) โดยจังหวัดเพชรบุรี และจากการพัฒนาและนำเสนอแผนต่อยอดการพัฒนาโครงการวิจัยเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 – 2565 จำนวน 28 โครงการ     ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงการย่อยที่ 9 นอกจากจะทำหน้าที่เชื่อมโยงกิจกรรม ประเมินผล ติดตามผล และเก็บข้อมูลนักนวัตกรในทุกโครงการย่อยแล้ว วัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อต่อยอดความยั่งยืนของโครงการชุมชนนวัตกรรมนั่นคือการผลักดันแผนพัฒนาขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเข้าสู่แผนตำบลและแผนจังหวัดโดยกลไกการทำงานแบบบูรณาการ ร่วมคิดกับภาคีเครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานระดับจังหวัดในการค้นหาโจทย์วิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ ร่วมทำงานวิจัยกับชุมชนในการลงพื้นที่แก้ไขปัญหาผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมจากนักวิจัย ร่วมรับผิดชอบต่อการพัฒนานวัตกรรมเพื่อชุมชนและสร้างนวัตกรชาวบ้านในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยงานวิจัย และท้ายสุดคือการร่วมรับผลประโยชน์ทั้งชุมชนผู้ประกอบการ หน่วยงานระดับท้องถิ่น หน่วยงานที่มีหน้าที่รับโดยตรงของจังหวัดเพชรบุรี และ มทร.พระนคร ที่เปรียบเสมือนหน่วยงานกลางที่ใช้งานวิจัยใช้กระบวนการวิจัยพัฒนานวัตกรรมโดยชุมชนเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง

ทีมนักวิจัย

ให้คะแนนนวัตกรรมนี้

คลิกที่ดาวเพื่อให้คะแนน

คะแนนเฉลี่ย 4.9 / 5. จำนวนการโหวต: 21

No votes so far! Be the first to rate this post.