RMUTP

แพลตฟอร์มการเรียนรู้

นวัตกรรมชุมชน

ศูนย์การเรียนรู้


RMUTP community innovation learning platforms (RMUTP CILP)

เตาเผาขยะไร้มลพิษระดับครัวเรือนและชุมชน

1. ความเป็นมา

ทีมนักวิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในเขตพื้นที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพื่อระดมความคิดร่วมกับชุมชน กลุ่มวิสาหกิจและหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย ได้รับการตอบรับและทำให้ทราบความต้องการของชุมชน ปัญหาของชุมชน จึงสามารถพัฒนาประเด็นการวิจัยได้ประชาชนประกอบอาชีพหลัก คือ 1. อาชีพเกษตรกรรม 2. อาชีพทำขนมหวาน 3. ประมงน้ำเค็ม ซึ่งแต่ละอาชีพมีประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องใช้วิจัยและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุน

ขยะในแม่น้ำลำคลองเพชรบุรี ขยะในป่าชายเลน ขยะในทะเล ดังภาพที่ 1 และภาพที่ 2 มีขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ เช่น ขวดและถุงพลาสติกต่าง ๆ ขวดแก้วปิดฝา เป็นต้น ก่อนที่ขยะจะไหลลงสู่ทะเล และคัดแยกขยะเพื่อสร้างรายได้ นำขยะไปสู่กระบวนการรีไซเคิล นวัตกรรมทุ่นเก็บขยะและอุปกรณ์ส่วนต่อเพิ่มเพื่อความสะดวกในการเก็บขยะเป็นสิ่งที่หน่วยงานและชุมชนต้องการอย่างมาก

ภาพที่ 1.1 ขยะในแม่น้ำ พื้นที่ทะเลแหล่งท่องเที่ยว และบนบกในจังหวัดเพชรบุรี
ภาพที่ 1.2 ขยะในพื้นที่ทะเลแหล่งท่องเที่ยวและบนบกใน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

2. บริบทปัญหาเชิงพื้นที่

จังหวัดเพชรบุรี ไม่ได้เป็นพื้นที่จังหวัดที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม แต่ก็ประสบปัญหาด้านขยะ เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ครบในทุกรูปแบบ มีปริมาณนักท่องเที่ยวเข้ามาในแต่ละวันจำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐของพื้นที่พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและตั้งเป็นนโยบายสำคัญของจังหวัด มีโครงการ รณณรงค์ มีกลุ่มจิตอาสาพัฒนาเมืองเพชรบุรี วิธีการกำจัดขยะโดยทั่วไปคือการฝังกลบ หรือเผา ก็จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมตามมา โดย อบจ. หรือ อบต.บางแห่งก็ไม่มีการจัดเก็บขยะ แต่ละครัวเรือนกําจัดเองโดยการเผา ในตลาดสดจังหวัดเพชรบุรีหรือในตลาดนัดจะมีวัตถุดิบทางการเกษตรเหลือทิ้งและไม่สามารถนำไปขายเพื่อสร้างมูลค่าได้อาจถูกนำไปขายเพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์ในราคาที่ถูกมาก แต่สามารถนำมาทำเป็นอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงของกลุ่มผู้รักสัตว์เลี้ยงที่มีคุณค่าสูง ส่งขายต่างประเทศ

การนำวัตถุดิบเหลือทิ้งมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ จะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและนำไปใช้ ในพื้นที่เกษตรกรรมของจังหวัด ขนมหวานสดและแห้งกรอบ จังหวัดเพชรบุรี นับได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงอย่างมากด้านขนมหวานเมืองเพชรบุรี ขนมหวานเพชรบุรีมีผลิตในทุกอำเภอ แต่จะมีการผลิตจำนวนมากในตัวอำเภอเมือง และในกระบวนการผลิตขนมหวานซึ่งใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น จะมีส่วนเหลือทิ้ง เช่น เปลือกไข่จำนวนมาก ไม่มีที่ทิ้ง ส่งกลิ่นเหม็น ไม่มีวิธีกำจัดอย่างถูกวิธี ถูกนำไปทิ้งตามท้องไร่ท้องนาของชาวบ้าน และสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาหลักด้านสิ่งแวดล้อมของอำเภอเมืองเพชรบุรี

3. วัตถุดิบในพื้นที่ (อธิบายเชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบ ระบุแหล่งซื้อขายวัตถุดิบ)

การวิเคราะห์ต้นทุนการกำจัดขยะสูงสุดเกิดขึ้นที่ต้นทุนแรงงาน คิดเป็นร้อยละ 41.7 ส่วนต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและต้นทุนค่ากำจัดขยะ เป็นต้นทุนรองลงมา คิดเป็นร้อยละ 25.6 และ 24.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ต้นทุนยังไม่เห็นผลชัดเจน ผู้วิจัยจึงขอนำเสนอต้นทุนเชิงลึกที่พิจารณาต่อหน่วยน้ำหนักของขยะ ในหน่วย บาท/กิโลกรัม ในปีงบประมาณ 2563 ต้นทุนรวมในการกำจัดขยะชุมชนของ อบต.บางแก้ว มีค่าประมาณ 1 บาท/กิโลกรัมขยะครัวเรือน ดังนั้น หากโครงการนี้สามารถลดต้นทุนการกำจัด ขยะในส่วนดังกล่าวนี้ได้ทั้งในภาพรวมระดับครัวเรือนและชุมชน ถือเป็นการลดรายจ่ายที่มีความสัมพันธ์เกี่ยว โยงกันที่ส่งผลกระทบไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับรากหญ้าจนกระทั่งถึงระดับชุมชนและระดับประเทศ

ภาพที่ 3.1 ลงพื้นที่สำรวจร่วมกับผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

4. แนวทางการออกแบบนวัตกรรม แสดงภาพอธิบายการทำงานเบื้องต้น

ผลการออกแบบนวัตกรรมเตาเผาขยะและเตาเผาถ่าน

จากการที่ได้ทบทวนวรรณกรรม ศึกษาเตาเผาขยะที่มีขายในตลาด ศึกษาการใช้งานเตาเผาขยะและเตาเผาถ่านรูปแบบต่าง ๆ และทดลองการใช้งานเตาเผาขยะ  ทีมนักวิจัยได้ทำการออกแบบโมเดลเบื้องต้นและใช้กระบวนการการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยให้ทีมนักนวัตกรชุมชนร่วมกันคิด ออกแบบปรับปรุงแก้ไขรูปแบบเตาเผาขยะขึ้นมาใหม่ด้วยการร่างแบบลงบนกระดาษ จากนั้นทีมงานนักวิจัยจึงใช้เทคนิคการออกแบบทางด้านวิศวกรรมโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SolidWorks นำรูปแบบเตาที่ร่างไว้ในกระดาษมาออกแบบเตาเผาขยะและเตาเผาถ่าน เพื่อให้ได้รูปแบบและมิติที่ถูกต้อง ซึ่งในกระบวนการการออกแบบจะต้องมีการคำนึงถึงวิธีการก่อสร้างร่วมด้วย เพื่อให้นักนวัตกรชุมชนเกิดความเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเตาเผาขยะและเตาถ่านด้วยกัน

สำหรับในกระบวนการสร้างเตาเผาขยะจะเป็นการพัฒนาและสร้างนักนวัตกรชุมชนไปด้วยในเวลาเดียวกันใช้เทคนิคการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทีมนักวิจัยและนักนวัตกรชุมชนร่วมคิดร่วมทำไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ในบางกระบวนการสร้างเตาเผานั้นทีมนักวิจัยจะมีความรู้ความชำนาญไม่เท่ากับทีมนักนวัตกร เพราะนักนวัตกรก็มีความรู้พื้นฐานเดิมที่ดีอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันทีมนักนวัตกรชุมชนก็ได้เรียนรู้ความรู้ใหม่ ๆ จากทีมนักวิจัยด้วยเช่นกัน

ในกระบวนการสร้างเตาเผาขยะจะมีปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างที่อาจจะไม่เป็นไปตามแบบที่ได้ออกแบบไว้ทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและเหตุผลบางประการที่จะปรับเปลี่ยนแบบเพื่อให้เตาเผาขยะมีประสิทธิภาพดีที่สุด กระบวนการการเผาและทดสอบจะทำการทดสอบร่วมกันประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้เตาเผาขยะและประสิทธิภาพในการทำงานรวมกัน จะเห็นว่าในทุกกระบวนการจะเป็นความร่วมมือระหว่างทีมนักวิจัยและทีมนักนวัตกรชุมชน ซึ่งผู้นำชุมชนโดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล หัวหน้างานและคนในพื้นที่ จะได้รับรู้ข้อมูลรวมกัน สำหรับกระบวนการออกแบบและขั้นตอนการสร้างเตาเผามีรายละเอียดดังต่อไปนี้

รูปภาพ เก็บข้อมูลเตาเผาขยะขนาดใหญ่ เพื่อประยุกต์เป็นระดับชุมชน
รูปภาพ เนักวิจัยและนักศึกษาร่วมกันทดสอบการทำงานเตาเผาขยะในเบื้องต้น

รูปภาพ โมเดลแบบจำลองสำหรับการสร้างเตาเผาขยะ

รูปภาพ โมเดลแบบจำลองสำหรับการสร้างเตาเผาถ่าน

5. นวัตกรรมที่นำมาใช้ แสดงภาพ โมเดลอธิบาย

5.1 กระบวนการออกแบบและขั้นตอนการสร้างเตาเผา

  1. กำหนดวัสดุที่จะนำมาก่อสร้างเตาเผา ประกอบด้วย อิฐทนไฟ MOT30 อิฐตรง ขนาด 7X5X23 เซนติเมตร รูปที่ 3.1 ก) ทนความร้อน 900 องศาเซลเซียส น้ำหนัก 4 กิโลกรัม/ก้อน ใช้ก่อ 54 ก้อนต่อตารางเมตร ก่อปูนหนา 0.5 เซนติเมตร ปูนก่อเป็นชนิดถังปูนทนไฟ 30 AM น้ำหนัก 35 กิโลกรัมต่อถัง ทนไฟ 1300 องศาเซลเซียส และคอนกรีตทนไฟ Cast 13 น้ำหนัก 25 กิโลกรัมต่อถุง ทนไฟ 1300 องศาเซลเซียส
  2. ออกแบบเตาเผาขยะและเตาเผาถ่านจากขยะไม้ โดยทีมนักวิจัยใช้โปรแกรมเขียนแบบคอมพิวเตอร์ SolidWorks โดยการสร้างชิ้นส่วนชิ้นเริ่มต้นตั้งแต่ก้อนอิฐบล็อกทนไฟ ซึ่งจะต้องเลือกขนาดและชนิดให้เหมาะสมตามที่มีขายอยู่ในท้องตลาดและสามารถนำมาใช้งานได้จริง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่สามารถทนไฟได้สูงถึง 900 องศาเซลเซียส
  3. ประชุมหารือรูปแบบโมเดลที่ออกแบบไว้กับนักนวัตกรชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแสดงความคิด และระดมความคิดปรับปรุงรูปแบบเตาเผาให้เหมาะสม จากนั้นทีมนักวิจัยทำการออกแบบโมเดลด้วยคอมพิวเตอร์อีกครั้ง เพื่อใช้เป็นแบบสำหรับการนับจำนวนก้อนอิฐและพื้นที่ฐานเตา รวมทั้งการก่อเตาตั้งแต่ชั้นล่างถึงชั้นบน รูปแบบโมเดลเพื่อการผลิตนั้นถูกออกแบบให้ก่อจากฐานรากขึ้นไปยังส่วนบนสุดของเตาทีละชั้น
  4. การก่อด้วยปูนก่อ ให้ใช้ปูนก่อที่อยู่ในถังพลาสติก ลงไป ซึ่งสามารถเปิดถังและทำการกวน ก็สามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องเติมส่วนผสมใดๆ ให้ทำชั้นความหนาของปูนระหว่างอิฐแต่ละก้อนต้องก่อไม่เกิน 5 เซนติเมตร การก่อปูนต้องแน่น เต็มหน้าอิฐ และใช้ค้อนยางตอกอิฐให้แน่น สังเกตได้ว่าปูนก่อจะล้นออกมาข้างนอกอิฐ จึงปาดปูนก่อออก
  5. ในระหว่างการก่อเตาในแต่ละชั้น สามารถปรับรูปแบบของเตาได้ โดยเมื่อนักนวัตกรมีแนวคิด หรือมุมมองในการก่อที่ดีกว่า ก็ย่อมปรับเปลี่ยนได้ เป็นการเรียนรู้การทำงานด้วยประสบการณ์ตนเอง และจะทำให้เกิดทักษะ สามารถเข้าใจโครงสร้างและสามารถซ่อมแซมเองได้เมื่อเตาเกิดความเสียหาย
  6. การก่อนอิฐในชั้นที่ 7 ให้ใช้คอนกรีตทนไฟ สำหรับการหล่อคานเพื่อใช้สำหรับการวางตะแกรงเหล็กหนาเพื่อเผาขยะ คอนกรีตทนไฟจะบรรจุในถุงกระสอบ ให้นำมาผสมน้ำและสามารถใช้งานได้เลย โดยไม่ต้องผสมหินหรือทรายใด ๆ
  7. เมื่อจบการก่อตามลำดับชั้นที่กำหนดในแบบ ให้ทำการสร้างโครงภายนอกด้วยเหล็กฉากให้แข็งแรงและจะทำให้สามารถติดตั้งปล่องไฟและชุดอุปกรณ์กำจัดมลพิษได้
  8. ติดตั้งประตูเตา โดยใช้ลูกกลิ้งให้ประตูเตาสามารถเคลื่อนที่เข้าออก เพื่อปิดและเปิดได้สนิท
    และติดตั้งชุดละอองไอน้ำด้านบนเตาเพื่อให้ความร้อนจากการเผาไปสร้างไอน้ำเพื่อกำจัดมลพิษอีกทางหนึ่ง
  9. ทดสอบการเผาขยะโดยใช้ขยะที่เตรียมไว้ และใช้อุปกรณ์เพิ่มออกซิเจนเพื่อให้การเผาไหม้สมบูรณ์มากขึ้น บันทึกผล
  10. ทำการทดสอบ และทดลอง และปรับปรุงกระบวนการเผาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
  11. สำหรับการสร้างเตาถ่าน ต้องระมัดระวังไม่ให้มีช่องของอากาศที่จะเข้าไปยังภายในเตา นั่นคือต้องให้ปูนก่อเต็มหน้าอิฐและตอกให้แน่นจนปูนก่อล้นออกมาและปาดที่ล้นออกไป
  12. การทำหน้าเตาเผาถ่านหรือประตู สามารถทำด้วยคอนกรีต เมื่อทำการเผาถ่านจะต้องปิดหน้าเตาให้สนิท เป็นข้อที่ต้องระวังอย่างมากในการเผาถ่าน ทำการทดสอบการเผาถ่าน และบันทึกผล

5.2 ผลการสร้างเตาเผาขยะ

  1. ผลการสร้างเตาเผาขยะ

การสร้างเตาเผาขยะระดับครัวเรือนและระดับชุมชนที่นำมาใช้กับตำบลท่าแร้งและตำบลบางแก้วนั้นมีลักษณะเดียวกัน ซึ่งกำหนดให้มีอัตราการเผาน้อยกว่า 50 กิโลกรัม เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างมลพิษจากปัจจัยเชิงปริมาณและข้อกำหนดทางกฎหมาย ทั้งนี้ กระบวนการสร้างเตาเผาขยะทั้งหมดได้นำนักนวัตกรชุมชนของตำบลท่าแร้งมาเป็นผู้ร่วมในการออกแบบและสร้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และอยู่ภายใต้กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการสร้างเตาเผาขยะไปพร้อมกัน สำหรับการสร้างเตาเผาขยะมีขั้นตอนดังนี้

การจัดทำฐานราก เป็นกระบวนการหลังจากเลือกสถานที่เหมาะสมในการก่อสร้างเตาเผาขยะตามที่กล่าวมาแล้วในบทที่ 3 โดยตำแหน่งการสร้างเตาอยู่ที่ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนและขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ที่ 3 ตรงข้ามที่ทำการผู้ใหญ่บ้านนายมาณู รอดเสม มีการร่วมมือกันโดยร่วมทำฐานรากและเตาโดยนักวิจัยและนักนวัตกรชุมชน มีการออกแบบให้มีขนาดความกว้าง ความยาว และความหนาของฐานรากประมาณ 2.5x 2.5×0.25 เมตร โดยมีการเทคอนกรีตที่มีความแข็งระดับ St280

รูปภาพ เก็บข้อมูลเตาเผาขยะขนาดใหญ่ เพื่อประยุกต์เป็นระดับชุมชน
รูปภาพ การจัดทำฐานรากเตาเผาขยะ
รูปภาพ การสร้างชั้นเตาเผาขยะ

การสร้างชั้นเตา ทำเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับเตาที่ประกอบด้วยการก่ออิฐทนไฟทั้ง 4 ด้านเป็นผนังรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความสูงจำนวน 22 ชั้น โดยมีโครงสร้างเหล็กฉากรองรับและเพิ่มความแข็งแรงให้กับฐานเตา การก่ออิฐเป็นการก่อสลับเพื่อหลีกเลี่ยงรอยต่อของอิฐในตำแหน่งเดียวกัน เนื่องจากในกรณีที่รอยต่ออยู่ตำแหน่งเดียวกัน ความแข็งแรงของโครงสร้างจะลดลง และมีการจัดระดับให้แต่ละชั้นเสมอกันเพื่อป้องกันการพังทลายจากการเสียสมดุลของชั้นเตา

การสร้างประตูและตะแกรงวางขยะ ประตูเตาเผาขยะถูกออกแบบให้เป็นเคลื่อนที่แนวระนาบตามรางเลื่อนโดยใช้อิฐทนไฟทำผนังประตูและใช้เหล็กฉากทำเป็นราง โดยติดตั้งล้อเลื่อนทั้งด้านบนและด้านล่างของราง ประตูมีการนำฉนวนทนความร้อนมาติดตั้งบริเวณขอบประตูด้านในเพื่อป้องกันการไหลออกของควันจากช่องว่างระหว่างประตูและโครงสร้างเตา ส่วนตะแกรงวางขยะถูกออกแบบให้มีรูปทรงเป็นสีเหลี่ยมผืนผ้าตามลักษณะห้องเผาไหม้โดยใช้เหล็กแผ่นสานเป็นโครงสร้างเพื่อสร้างความแข็งแรง

รูปภาพ การสร้างประตูและตะแกรงวางขยะ

การยึดปล่องลำเลียงควัน ปล่องลำเลียงควันมีความสูงประมาณ 6 เมตร ทำจากเหล็กกลวงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15.8 เซนติเมตร ถูกติดตั้งอยู่ชั้นบนสุดของชั้นเตาตามรูปที่ 4.13 และยึดหน้าแปลนที่สวมทับลงไปในโครงสร้างเตา และมีการยึดสลิง 2 ด้าน ทิศทางตรงกันข้ามกัน เพื่อป้องกันการโอนเอียงและเสียสมดุลจากแรงลม

รูปภาพ การยึดปล่องลำเลียงควันเตาเผาขยะ

5.3 ผลการสร้างเตาเผาถ่าน

การสร้างเตาเผาถ่านของตำบลท่าแร้ง มีการออกแบบให้มีกำลังการเผาไม้ได้ไม่เกิน 1200 กิโลกรัม ทั้งนี้ กระบวนการสร้างเตาเผาถ่าน ทั้งหมดได้นำนักนวัตกรชุมชนของตำบลท่าแร้งมาเป็นผู้ร่วมในการออกแบบและสร้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และอยู่ภายใต้กระบวนการถ่ายทอด องค์ความรู้และเทคโนโลยีการสร้างเตาเผาขยะไปพร้อมกัน เช่นเดียวกับการสร้างเตาเผาขยะ โดยสถานที่จัดสร้างเตาเผาถ่าน อบต. ท่าแร้ง เป็นผู้กำหนดให้ สำหรับการสร้างเตาเผาถ่านมีขั้นตอนดังนี้

การจัดทำฐานราก มีการดำเนินการตามข้อกำหนดด้านเทคนิคเช่นเดียวกับการสร้างเตาเผาขยะโดยมีความแตกต่างเพียงขนาดพื้นที่ของฐานรากเท่านั้น

การสร้างชั้นเตา มีวัตถุประสงค์และวิธีการดำเนินการเช่นเดียวกับเตาเผาขยะ หากแต่มีความสูงเพียง 15 ชั้น และโครงสร้างส่วนบนสุดที่เป็นผนังด้านบนคล้ายหลังคามีลักษณะโค้งมน

การสร้างประตูเตา ใช้วิธีการเปิด ปิด ประตูด้วยกลอนที่นำบานพับประตูมาใส่ ประตูทำจากเหล็กแผ่นหนา 5 มิลลิเมตร โดยไม่มีฉนวนติดตั้ง หากแต่ใช้โคลนปิดโดยรอบของประตูเพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนและการกระจายตัวของควัน

การติดตั้งปล่องลำเลียงควัน เตาถ่านมีปล่องซีเมนต์ขนาดประมาณ 15.8 เซนติเมตร จำนวน
4 ปล่อง ถูกติดตั้ง อยู่บริเวณมุมทั้ง 4 ด้านของเตา และมีการต่อท่อเพื่อนำน้ำส้มควันไม้ที่ผ่านการกลั่นตัวมาเป็นผลิตภัณฑ์ในการเพิ่มรายได้อีกด้วย

รูปภาพ การจัดทำฐานรากเตาเผาถ่าน
รูปภาพ การจัดทำฐานรากเตาเผาถ่าน
รูปภาพ การสร้างชั้นเตาเผาถ่าน
รูปภาพ ประตูเตาเผาถ่าน
รูปภาพ การทดสอบสมรรถนะเตาเผาขยะควบคู่กับการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักนวัตกรชุมชน

6.สรุปผลการวิจัย

การดำเนินงานของโครงการวิจัยนี้ได้ดำเนินงานโดยการวิจัยแบบมีส่วนร่วมใช้พลังจากท้องถิ่นตั้งแต่หน่วยงานเชิงพื้นที่ประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนตำบลท่าแร้ง องค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว และองค์การบริหารส่วนตำบลบางตะบูน ร่วมกับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ อีกทั้งยังมีการสร้างนักนวัตกรชุมชนรวมถึงแพลตฟอร์มการเรียนรู้ กลไกลการทำงานเชิงพื้นที่จำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานเช่นพื้นที่ก็คือองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นแกนหลัก และขับเคลื่อนการทำงานลงไปในระดับชุมชน หมู่บ้าน โดยให้ผู้ใหญ่บ้านเข้ามามีส่วนร่วม หรือหัวหน้ากลุ่มชุมชนในพื้นที่ต่างๆ มีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะต้องให้ผู้นำชุมชนเกิดความเข้าใจในโครงการ ทีมนักวิจัยจำเป็นต้องชี้แจงโครงการ อธิบายเหตุผล และสร้างมิตรภาพที่ดี แสดงถึงความจริงใจในการที่จะลงมาช่วยทำงานในระดับชุมชน และแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้น ๆ ต้องเรียนรู้ รับรู้ และร่วมคิดกับชุมชนตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการวิจัย

ในบางครั้งการเชื่อมต่อกับชุมชนในพื้นที่หากไม่สามารถดำเนินงานได้โดยตรงก็จะต้องใช้เครือข่ายขององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นสื่อกลางในการชักชวนและชักจูงให้ไปด้วยกันเมื่อไหร่ก็ตามที่ชุมชนท้องถิ่นมีความมั่นใจและไว้ใจในทีมนักวิจัยที่แสดงถึงความแน่วแน่และตั้งใจ จึงจะกลายเป็นพลังที่จะทำให้โครงการเดินหน้าไปและประสบความสำเร็จได้

จุดเริ่มต้นของโครงการวิจัยเกิดจากการประสานงานกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และสร้างเวทีการประชุมโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาหรือหน่วยจัดการกลาง เข้ามาเป็นกลไกการเชื่อมต่อที่ดี ทำให้ทีมนักวิจัยสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว จากเวทีการประชุมหารือในครั้งแรกอาจจะมีแรงต้านบ้างจากชุมชนเพราะยังมีความไม่เข้าใจในโครงการมากนัก แต่เมื่อชี้แจงและใช้เหตุผลประกอบชุมชนจึงเกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้นและทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยได้เป็นอย่างดี

ในการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ ทีมนักวิจัยจะต้องแสดงถึงการเป็นคนในพื้นที่ ที่ไม่ใช่นักวิชาการเท่านั้น การใช้คำพูดหรือภาษาจะต้องมีการปรับปรุงใหม่ให้เป็นภาษาที่ชาวบ้านพูดคุยกันเป็นภาษาพื้นฐานและมีความเป็นกันเอง สุภาพและนอบน้อม

นักนวัตกรในพื้นที่ได้รับการคัดเลือกแต่งตั้ง พัฒนา ส่งเสริม ทดสอบ จนกระทั่งมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมที่นำไปติดตั้งลงในพื้นที่ชุมชนนั้นๆ ก็ยังมีหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมชุมชนในหลายหลายหลักสูตรเพื่อให้มีความรู้ที่สามารถช่วยในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรการเป็นนักถ่ายทอดที่ดี เนื่องจากนักนวัตกรชุมชนจะต้องมีทักษะในการถ่ายทอดให้ผู้อื่นสามารถปฏิบัติตามได้หรือชักจูงให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนร่วมร่วมกันทำงานได้

แพลตฟอร์มการเรียนรู้หรือ Learning and Innovation Platform ที่ได้จากโครงการวิจัยนี้ได้ถูกนำไปบรรจุไว้ในศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์ ซึ่งโครงการวิจัยที่ 9 ได้ทำการรวบรวมและออกแบบรูปแบบการนำเสนอที่ทำให้ผู้สนใจเกิดความรู้ความเข้าใจได้ง่ายขึ้น รวมถึงสามารถติดต่อประสานงานกับภาคส่วน
ต่าง ๆ ได้ เช่นมหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนตำบล หรือนักนวัตกรชุมชนนั้น ๆ

นวัตกรรมเตาเผาถ่านที่เกิดจากการหารือโดยนักนวัตกรและชุมชน ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเตาเผาขยะมานั้น สามารถที่จะเป็นต้นแบบเตาเผาถ่านที่ดีให้กับผู้ประกอบการทำถ่าน หรือกลุ่มผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น ตำบลบางตะบูนจะมีรูปแบบการเผาถ่านที่เป็นลักษณะเตาหลุม ใช้แกลบขี้เถ้าเป็นตัวกลบไม้ทั้งหมด สิ่งที่ขาดหายไปคือจะไม่ได้น้ำส้มควันไม้ หากปรับเปลี่ยนรูปแบบของการเผาแบบเตาหลุมมาเป็นการเผาแบบโดมหรือเป็นห้องเผาตามแบบของโครงการนี้ที่ออกแบบมาให้สร้างง่ายและซ่อมแซมได้เอง จะทำให้ได้น้ำส้มควันไม้ อีกทั้งยังสามารถควบคุมการเผาให้มีประสิทธิภาพได้ง่ายกว่า ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือเมื่อเผาเสร็จแล้วดับไฟจนกระทั่งไม่ร้อนก็สามารถนำถ่านไม้ออกมาจากเตาได้โดยตรงและถ่านจะมีความสะอาดสูง แต่หากเป็นการเผาด้วยเตาหลุมก็จะมีผงถ่านและขี้เถ้าทับอยู่ด้านบน ต้องทำการโกยเอาแกลบขี้เถ้าออกก่อน ซึ่งต้องใช้แรงงานพอสมควร สำหรับน้ำส้มควันไม้ที่ขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปราคาลิตรหนึ่งจะไม่ต่ำกว่า 50 บาท หากซื้อผ่านระบบออนไลน์จะพบว่าราคาอาจสูงถึงลิตรละ 60-80 บาท แต่ทางชุมชนที่ร่วมวิจัยจะขายอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร ซึ่งจากการเผาถ่านในหนึ่งเตาจะได้น้ำส้มควันไม้ไม่ต่ำกว่า 40 ลิตร นั่นหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากที่ไม่เคยได้มาก่อน ดังนั้นในรอบ 1 เดือน หากทำการเผา 3 รอบต่อหนึ่งเตา ได้น้ำส้มควันไม้ประมาณ 120 ลิตร คิดเป็นรายได้เฉพาะน้ำส้มควันไม้ 120 ลิตรx25 บาทต่อลิตร เท่ากับ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งแต่เดิมหากทำการเผาด้วยเตาหลุมจะไม่ได้น้ำส้มควันไม้เลย เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการแบบเดิมส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 18

ทีมนักวิจัย

ให้คะแนนนวัตกรรมนี้

คลิกที่ดาวเพื่อให้คะแนน

คะแนนเฉลี่ย 4.8 / 5. จำนวนการโหวต: 15

No votes so far! Be the first to rate this post.