RMUTP

แพลตฟอร์มการเรียนรู้

นวัตกรรมชุมชน

ศูนย์การเรียนรู้


RMUTP community innovation learning platforms (RMUTP CILP)

นวัตกรรมการออกแบบและสร้างโรงเรือนอบแห้งผลิตภัณฑ์แปรรูปทางทะเลสำหรับอุตสาหกรรมครัวเรือนบนพื้นที่ที่จำกัด

1. ความเป็นมา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ทำวิจัยเชิงพื้นที่เขตพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง เช่น จังหวัด เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม เป็นต้น โดยเป็นการทำวิจัยและทำบริการวิชาการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อส่งเสริม สนับสนุน แก้ไขปัญหาให้กับกลุ่ม ชุมชน ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยมีข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่ ข้อมูลชุมชน ข้อมูลหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ มีเครือข่ายความร่วมมือหลายภาคส่วน อาทิ พัฒนาการจังหวัด (พช.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สำนักงานเทศบาล สำนักงานเกษตร ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจต่าง ๆ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการวางแผนตัดสินคัดเลือกแผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ จะช่วยขับเคลื่อนการบริหารจัดการเศรษฐกิจชุมชนในระดับฐานรากได้ ภายหลังการลงพื้นที่เพื่อระดมความคิดร่วมกับชุมชน กลุ่มวิสาหกิจและหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย ได้รับการตอบรับและทำให้ทราบความต้องการของชุมชน ปัญหาของชุมชน จึงสามารถพัฒนาประเด็นการวิจัยได้ด้วยการหนุนเสริมชุมชนนวัตกรรม ในเขตลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนปลาย หรือในเขตอำเภอบ้านแหลม จ.เพชรบุรี โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและมีความต้องการของชุมชนที่อยู่ในตำบลต่าง ๆ ของพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งเป็นชุมชนประมงขนาดใหญ่ และเป็นเส้นทางของแม่น้ำไหลลงสู่อ่าวไทย (ตามภาพที่ 1) ประชาชนประกอบอาชีพหลัก คือ 1. อาชีพเกษตรกรรม 2. อาชีพทำขนมหวาน 3. ประมงน้ำเค็ม ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะอาชีพประมงน้ำเค็ม พบว่า ประเด็นด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป ในทุก ๆ ตำบลของอำเภอบ้านแหลม มีปัญหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ การแปรรูปอาหารทะเล ในเบื้องต้นด้วยการลดความชื้นด้วยการตากแห้งผลิตภัณฑ์ เช่น ปลาเค็มจากปลาชนิดต่าง ๆ ปลาเกล็ดขาวแห้ง ปลากะตักแห้ง ปลาไส้ตันแห้ง ปลาจวดแห้งปลากุเลาเค็มแห้ง ปลาหวานแพตากแห้ง ปลาข้างเหลืองแพแห้ง ปลาหมึกแห้ง กุ้งแห้ง ปลาทูแร่แดดเดียว กะปิ และอื่น ๆ (ตามภาพที่ 2) บนตระแกรงรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามแบบเปิด (ตามภาพที่ 3) ที่อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่มีโรงเรือนตากแห้งที่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้สัตว์ที่เป็นพาหะนำเชื้อโรค เช่น แมลงวัน แมลงหวี่ รวมไปถึง ฝุ่นควัน ที่เกิดจากการสัญจรของรถยนต์ที่มีจำนวนมาก รวมไปถึง ข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการตากแห้งผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ที่ชาวบ้านมักจะลุกล้ำพื้นที่สัญจรทางถนนทั้งสองข้างทาง (ตามภาพที่ 4)

ภาพที่ 1 ภาพถ่ายดาวเทียวของอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
ภาพที่ 2 ตัวอย่างอาหารทะเลที่นำมาแปรรูปเบื้องต้นด้วยการตากแห้งจากพลังงานแสงอาทิตย์
ภาพที่ 3 อุปกรณ์ตากแห้งอาหารทะเลรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบเปิด
ภาพที่ 4 ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ปนเปื้อนจากสัตว์พาหะนำโรคและฝุ่นควัน

ภายใต้การปฏิบัติการเชิงนโยบายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่มีโครงสร้างจาก 9 คณะวิชาที่มีความครอบคลุมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสังคมศาสตร์ ด้วยทำงานเชิงรุกด้วยการลงพื้นที่เป้าหมายและโจทย์ปัญหาวิจัยจากความต้องการจริงของชุมชน สามารถกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาตามที่กล่าวมาแล้ว ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ยังผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตตั้งแต่ระดับต้นน้ำ (อาหารทะเล) ระดับกลางน้ำ (เครื่องมือ เครื่องจักร และนวัตกรรมที่เหมาะสมในระดับชุมชน) และระดับปลายน้ำ (การขยายรายได้ที่ลงไปในระดับฐานรากของคนในชุมชนตามอัตลักษณ์วิถีชีวิต) จากการสร้างและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตรงกับประเด็นปัญหาและสอดคล้องกับบริบทของกลุ่มเป้าหมาย ควบคู่กับการพัฒนาคนของชุมชนในก้าวสู่นักวิจัยชาวบ้าน/นวัตกรรมชาวบ้าน ผ่านการมีส่วนร่วมระหว่าง คนในชุมชน นักวิชาการ และทรัพยากรธรรมชาติ ให้มีการยกระดับทั้งคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนครอบคลุมทั้ง 10 ตำบลในเขตอำเภอบ้านแหลม จ.เพชรบุรี

ดังนั้น โครงการวิจัย “การออกแบบและสร้างโรงเรือนอบแห้งผลิตภัณฑ์แปรรูปทางทะเลสำหรับอุตสาหกรรมครัวเรือนบนพื้นที่ที่จำกัด” ภายใต้แผนงานวิจัย การพัฒนานวัตกรรมชุมชนเพื่อการจัดการและสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ชุมชนจังหวัดเพชรบุรี ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีในระดับชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในด้าน การลดข้อจำกัดด้านพื้นที่ตากแห้ง การปนเปื้อนจากสัตว์พาหะ และการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ โดยมีเป้าหมายในการ ศึกษา ออกแบบ และสร้างต้นแบบโรงเรือนอบแห้งผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลสำหรับอุตสาหกรรมครัวเรือนบนพื้นที่ที่จำกัด เพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดหรือความสามารถเพียงพอต่อความต้องการ และใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมไปถึงการแก้ไขพื้นที่ที่ไม่เพียงพอต่อการตากแห้ง ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค ฝุ่นและควันต่าง ๆ เพื่อเป็นแบบอย่างและขยายไปสู่ชุมชนอื่น และสร้างนักวิจัยชาวบ้านหรือนวัตกรชาวบ้าน มากไปกว่านั้น ด้วยองค์ความรู้ที่มีอยู่และการผสมผสานของนักวิจัยต่างคณะของมหาวิทยาลัย โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาเป็นหน่วยงานกลางเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน โดยที่ผ่านมานักวิจัยได้เข้าช่วยเหลือชุมชน กลุ่มวิสาหกิจมากมายในเขตพื้นที่ที่กล่าวมา จนเป็นที่ยอมรับ และโครงการนี้ก็เช่นกันเป็นโครงการใหม่ที่เชื่อมโยงเข้ากับหน่วยงานและชุมชนที่มีความเกี่ยวข้องกันตั้งแต่ที่ผ่านมา และมหาวิทยาลัยมีรูปแบบการบริหารจัดการโครงการวิจัย โดยใช้ประสบการณ์จากการที่ได้รับทุนวิจัยจาก สกสว. ปี 2562 ภายใต้ชื่อโครงการเรื่อง การสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประเภทขนมหวานพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ จังหวัดเพชรบุรี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นทุนเดิมของมหาวิทยาลัยที่จะทำให้โครงการวิจัยสำเร็จลงได้

2. บริบทปัญหาเชิงพื้นที่

สำหรับกระบวนการสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ ได้รับข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่ใช้หลักการย้อนปัญหาสู่การพัฒนาโจทย์วิจัยและกระบวนการแก้ไขปัญหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ให้ข้อเสนอแนะกล่าวได้ดังสรุปคือ

1) ความสำเร็จของการทำโครงการวิจัยแบบความยั่งยืนจำเป็นต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจน ประกอบจาก ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งหมดของกลุ่มเป้าหมาย

2)ความต้องการคือสิ่งสำคัญที่นักวิจัยนำไปพัฒนาโจทย์วิจัยและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ด้วยวิธีการย้อนรอยปัญหาโดบมี 3 กลุ่มหลัก คือ

– กลุ่มปลายทาง คือผู้ที่เผชิญกับปัญหา (ผู้ประกอบการแปรรูปอาหารทะเล) ทั้งแบบเชิงเดี่ยวและเชิงกลุ่ม ตามบริบทของปัญหาจริงที่เกิดขึ้น และข้อจำกัดของกลุ่มปลายทาง ที่เดิมมีความสัมพันธ์ร่วมเฉพาะกับกลุ่มกลางทางเท่านั้น
– กลุ่มกลางทาง คือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่สามารถส่งเสริม สนับสนุนให้การแก้ไขปัญหานั้น
– กลุ่มต้นทาง คือ นักวิจัยที่นำปัญหาและผสานการเข้าถึงของกลุ่มต้นทางและกลุ่มกลางทางให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เพื่อสร้างกระบวนการหรือระเบียบวิธีและเครื่องมือที่ช่วยในการแก้ไขปัญหา ที่แสดงให้เห็นความแตกต่างภายหลังมีการแก้ไขปัญหา และนำผลลัพธ์มาวิเคราะห์ อันจะสร้างผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ไปถึงกลุ่มปลายทางและกลางทาง โครงสร้างความยั่งยืนในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่แบบย้อนรอยต้นทางแสดงตามภาพที่ 5
ภาพที่ 5 รูปแบบโครงสร้างความยั่งยืนในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่แบบย้อนรอยต้นทาง

3. วัตถุดิบในพื้นที่ (อธิบายเชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบ ระบุแหล่งซื้อขายวัตถุดิบ ถ้ามี)

4. แนวทางการออกแบบนวัตกรรม

จากการสรุปปัญหาที่ได้จากการลงพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผู้วิจัยสามารถระบุความต้องการของทั้ง 2 ชุมชนดังนี้

ชุมชนใน อบต. แหลมผักเบี้ย
– ต้องการโรงเรือนอบแห้งวัตถุดิบที่มีขนาดเพียงพอต่อการตากวัตถุดิบ
– ต้องการให้โรงเรือนที่สามารถลดการใช้พลังงานและลดการใช้แรงงานคนเพื่อขนย้าย
– ต้องการโรงเรือนที่ออกแบบให้สามารถตากวัตถุดิบได้โดยไม่ต้องการปนเปื้อนของฝุ่นละอองและไม่ต้องพลิกวัตถุดิบ
– ต้องการตั้งโรงเรือนไว้ภายนอกองค์การบริการส่วนตำบล
ชุมชนใน อบต. ปากทะเล
– ต้องการโรงเรือนขนาดกะทัดรัด ย่อมเยาว์ เคลื่อนที่ได้
– ต้องการโรงเรือนอบแห้งที่ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้มากกว่าการการทำเชิงพาณิชย์ เพื่อใช้ในการเรียนรู้และหากประชาชนในชุมชนต้องการก็สามารถลงทุนจัดทำได้ด้วยตนเอง
– ต้องการติดตั้งโรงเรือนอบแห้งที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน
– ต้องการติดตั้งโรงเรือนอบแห้งไว้ภายในองค์การบริการส่วนตำบล

5. นวัตกรรมที่นำมาใช้ แสดงภาพแบบจำลองพร้อมคำอธิบายการทำงานเบื้องต้น

โดยคณะผู้วิจัยได้ทำการลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูล ออกแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อใช้กับพื้นที่ตำบลแหลมผักเบี้ย ตำบลปากทะเล ที่มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลาหมึก ปลา และหอย ทั้งนี้ข้อมูลเชิงพื้นที่ถูกนำมาประกอบในการออกแบบสร้างโรงเรือนอบแห้ง ซึ่งกระบวนการออกแบบแนวคิดเป็นทฤษฎีที่ถูกนำมาใช้ มีความเหมาะสมกับการวิจัยในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถเข้าถึงทุกกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นการศึกษาจนกระทั่งสำเร็จ
สำหรับการออกแบบโรงเรือนอบแห้ง ด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ แบบเรือนกระจก (Greenhouse Solar Drying System) ในพื้นที่ตำบลแหลมผักเบี้ย และตำบลปากทะเลนั้น มีการดำเนินงานตามขั้นตอนที่ได้กำหนดมาอย่างถูกต้องและเหมาะสม ดังภาพ

ภาพที่ 6 เก็บข้อมูลและดำเนินการสร้างโรงเรือนอบแห้ง พื้นที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
ภาพที่ 7 เก็บข้อมูลและตรวจสอบการสร้างโรงเรือนอบแห้ง พื้นที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
ภาพที่ 8 โรงเรือนอบแห้ง พื้นที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
ภาพที่ 9เก็บข้อมูลและสำรวจพื้นที่ การติดตั้งโรงเรือนอบแห้ง ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
ภาพที่ 10 โรงเรือนอบแห้ง พื้นที่ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

6. สรุปผลการวิจัย

ในการดำเนินงานให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์จะต้องอาศัยความร่วมมือเชิงพื้นที่เป็นสำคัญ คือ การสร้างกลไกการทำงานร่วมกับหน่วยงานเชิงพื้นที่ และการจัดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจตั้งแต่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ปลัด หัวหน้างาน และเจ้าหน้าที่ ที่จะสามารถนำพาให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงชุมชนได้สะดวกขึ้น และกระบวนการทำงานแบบบูรณาการจะส่งเสริมการทำงานที่รวดเร็วมากขึ้นและรวมถึงการยอมรับของชุมชน ซึ่งนวัตกรรมโรงเรือนอบแห้งผลิตภัณฑ์แปรรูปทางทะเลสำหรับอุตสาหกรรมครัวเรือนบนพื้นที่ที่จำกัดจะสามารถนำไปใช้ได้ระดับหมู่บ้านและระดับครัวเรือน

การดำเนินงานในส่วนของการพัฒนานักนวัตกรชุมชน คือ นักนวัตกรได้รับการถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน มีทักษะหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ เช่น ทักษะการทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการอบแห้ง ทักษะการตากวัตถุดิบและการจัดเรียงวัตถุดิบก่อนการอบแห้ง ทักษะการทำความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานการใช้งาน ทักษะการแก้ไขปัญหาและบำรุงรักษาเบื้องต้น ทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นตามบริบทพื้นที่เพราะเป็นกลุ่มประมงในหมู่ที่ทำอาชีพนี้โดยตรง นักนวัตกรและกลุ่มให้ความสนใจและร่วมมือกับทีมนักวิจัยในการดำเนินกิจกรรม ตั้งแต่แรกเริ่มโครงการจนกระทั่งเสร็จสินโครงการ ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยยังได้ทำการติดตามนักนวัตกรเพื่อช่วยเหลือหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

ภาคส่วนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ได้มอบพื้นที่ที่จะใช้ในการติดตั้งโรงอบขนาดใหญ่ และในทุกครั้งที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี จะเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาศึกษา พร้อมกับใช้ผลิตภัณฑ์วัตถุดิบของผู้ประกอบการในการเผยแพร่ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การเรียนรู้ โดยมีคณะกรรมการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรตำบลแหลมผักเบี้ย เป็นกลุ่มรับเทคโนโลยี ที่ขึ้นตรงกับองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมผักเบี้ย คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการที่มีการจัดตั้งอยู่แต่เดิม มีการประชุมหารือและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการร่วมโครงการกับโครงการวิจัยนี้ จะใช้โรงอบที่สร้างขึ้นเป็นศูนย์การถ่ายทอด และใช้ผลิตภัณฑ์ทางทะเลของกลุ่มผู้ประกอบการเป็นวัตถุดิบในการถ่ายทอดความรู้จริง

การทดสอบอบแห้งผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนทั้ง 2 พบว่า การออกแบบและสร้างนวัตกรรมสามารถนำมาใช้งานกับวัตถุดิบในท้องถิ่นได้ ซึ่งสามารถลดความชื้นลงได้ตามต้องการ ตลอดจนสีของผลิตภัณฑ์อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ส่วนประเด็นของการลดต้นทุนการผลิตนั้น สามารถลดลงในส่วนของต้นทุนพลังงานได้เพียงร้อยละ 1.81 ซึ่งอาจไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าพอใจ ทั้งนี้ อาจเกิดจาก ต้นทุนส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 92 เป็นต้นทุนวัตถุดิบ จึงทำให้การลดต้นทุนเป็นด้วยความยากลำบาก หากแต่นวัตกรรมนี้สามารถลดการปนเปื้อนทั้งจากฝุ่นละอองและแมลงวันลงได้ทั้งหมด อันส่งผลดีกับมาตรฐานคุณภาพสินค้าและเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ และนำไปบรรจุเข้ากับโครงการย่อยที่ 6 ซึ่งออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ตากแห้งที่ปราศจากสิ่งปนเปื้อน สำหรับผลตอบแทนของการลงทุน (ROI) คิดเป็นร้อยละ 20.23 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก และมีประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) คือ 2.17

ส่วนกรณีของการสร้างนักนวัตกรชาวบ้านด้วยหลักสูตรการพัฒนาของทั้ง 2 ตำบล ทำให้เกิดนักนวัตกรจำนวนทั้งสิ้น 5 ราย 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ และระดับถ่ายทอดองค์ความรู้ นอกจากนี้ นวัตกรรมในโครงการนี้ ยังสร้างการยอบรับจากผู้มีส่วนได้เสียในการเปลี่ยนแปลงวิธีการประกอบอาชีพด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนา ตลอดจนมีแหล่งเรียนรู้นวัตกรรมในชุมชนที่ใช้นักนวัตกรเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ ที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์นวัตกรรมแบบสาธารณะได้อีกด้วย ความสำเร็จของโครงการนี้ มีความครบถ้วนในทุกมิติทั้งในด้านการสร้างคุณภาพคน การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจชุมชน การส่งมอบข้อมูลนวัตกรรมให้กับโครงการย่อยที่ 9 เพื่อนำเข้าสู่ Innovation Library การสร้างแหล่งเรียนรู้นวัตกรรมและการพึ่งพาตนเอง ที่เปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทความต้องการชุมชน หรือ ชุมชนนวัตกรรมนั่นเอง

ทีมนักวิจัย

ให้คะแนนนวัตกรรมนี้

คลิกที่ดาวเพื่อให้คะแนน

คะแนนเฉลี่ย 4.8 / 5. จำนวนการโหวต: 18

No votes so far! Be the first to rate this post.