RMUTP

แพลตฟอร์มการเรียนรู้

นวัตกรรมชุมชน

ศูนย์การเรียนรู้


RMUTP community innovation learning platforms (RMUTP CILP)

หลักสูตรที่ 1 ความสามารถในการใช้เครื่องมือวัด และการแปลผลจากเครื่องมือวัด

คำอธิบายและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ 1. ต้องการให้เข้าใจถึง หลักการทำงานของเครื่องมือวัดเรียนรู้
2. ต้องการให้อ่านค่าและแปลความหมายผลการตรวจวัด
วิธีการพัฒนา 1. ใช้เครื่องมือวัดมาอธิบาย โดยแสดงให้เห็นถึงหลักการทำงาน ฟังก์ชั่นการใช้งาน และการอ่านค่าจากเครื่องมือวัด
เกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จ 1. ความเข้าใจในความสามารถของเครื่องมือวัดและฟังก์ชั่นการใช้งาน
2. ความเข้าใจค่าที่ตรวจวัดการแปลผล
วิธีวัดผล 1. ลงมือปฏิบัติภายใต้การดูแลของนักวิจัย
2. ตอบคำถามตามแบบทดสอบ (ตารางที่ 3.7)
ระยะเวลา 60 นาที
เครื่องมือ อุปกรณ์ 1. เครื่องมือวัด
2. ภาชนะบรรจุน้ำที่ต้องการตรวจวัด

ส่วนที่ 1 ส่วนประกอบของเครื่องมือวัด

หมายเลข

  1. ค่าแสดงผลความถ่วงจำเพาะ S.G. ของน้ำไม่มีหน่วย
  2. ค่าแสดงผลอุณหภูมิของน้ำ หน่วยองศาเซลเซียส 0C
  3. หัววัดค่า
  4. ปุ่มเลือกโหมดแสดงผลการวัดในหน่วยต่าง ๆ
  5. ปุ่มสั่งค้างผลการวัด HOLD/ปุ่มรีเซ็ทค่าการวัด CAL
  6. ปุ่มปรับตั้งการแสดงผลการวัดและเปิด/ปิด
  7. สัญลักษณ์แสดงค่าความเค็ม SALT
  8. ช่องบรรจุแบตเตอรี่

ส่วนที่ 2 หลักการทำงานของเครื่องมือวัด

หลักการทำงานของเครื่องมือวัดนี้ เป็นการรับผลคุณสมบัติของของเหลวที่มีความแตกต่างกันผ่านตัวรับรู้คล้ายเซนเซอร์จากนั้นประมวลผลผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (แผ่นชิป) ภายในและแสดงผลผ่านหน้าจอ ซึ่งสามารถเลือกการแสดงผลได้

ส่วนที่ 3 ความสามารถของเครื่องมือวัด

เครื่องมือวัดนี้มีความสามารถวัดค่าคุณสมบัติของของไหลต่าง ๆ เช่น น้ำ น้ำมัน น้ำคลอง น้ำผสม และอื่น ๆ ได้ โดยคุณสมบัติที่สำคัญของน้ำที่นำมาตรวจวัดเพื่อให้ทราบถึงค่าต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นที่จะนำไปประกอบการตัดสินใจในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีความเหมาะสมกับการใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น น้ำเลี้ยงกุ้ง ไม่ควรมีอุณหภูมิเกินกว่า 40 0C (องศาเซลเซียส) ซึ่งจะทำให้กุ้งไม่สบาย ไม่กินอาหาร และตายลง เป็นต้น เครื่องมือวัดนี้มีความสามารถในการวัดค่าคุณสมบัติของน้ำได้ดังนี้

  1. วัดค่าความเค็ม (SALT) ซึ่งผลการวัดอุณหภูมิจะให้ผลแสดงเป็นหน่วย % ความเค็ม
  2. วัดค่าความถ่วงจำเพาะ S.G. ที่แสดงให้เห็นถึงความหนักหรือเบากว่าน้ำทั่วไป (ปกติน้ำทั่วไปมีค่า S.G ประมาณ 1) หากวัดค่าได้มากกว่า 1 แสดงว่า สิ่งที่วัดได้มีน้ำหนักมากกว่าน้ำทั่วไป ในปริมาณที่เท่ากัน
  3. วัดค่าสัดส่วนผสมในหน่วยหนึ่งในล้านส่วน (part per million: ppm) ซึ่งสามารถวัดการเจือปนของสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่ในน้ำที่วัดได้แต่ไม่สามารถแยกได้ว่ามีสิ่งใดเจือปนอยู่
  4. วัดค่าอุณหภูมิของน้ำ ซึ่งผลการวัดอุณหภูมิจะให้ผลแสดงเป็นหน่วยองศาเซลเซียส

ส่วนที่ 4 วิธีใช้งานเครื่องมือวัด

วิธีการใช้งานทำได้โดย

  1. เปิดใช้งานด้วยการกดปุ่ม SET หมายเลข 6 ค้างไว้
  2. ปรับโหมด MODE หมายเลข 4 ในหน่วยที่ต้องการแสดง เช่น ความเค็ม SALT ความถ่วงจำเพาะ S.G. และค่าสัดส่วนผสม ppt เป็นต้น
  3. นำตัวรับรู้หรือหัววัดค่า หมายเลข 3 จุ่มลงในของเหลวที่ต้องการวัด ผลจะแสดงผ่านหน้าจอตามหน่วยและค่าที่ต้องการวัดที่ปรับตั้งมาแล้ว
  4. ให้ค่าที่วัดแสดงค้างไว้ด้วยการกดปุ่ม HOLD หมายเลข 5
  5. ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด เช็ด และเก็บไว้ในที่อุณหภูมิไม่เกิน 50 0C
  6. เมื่อไม่ใช้งานนาน ๆ ให้ถอดแบตเตอรี่ออก หมายเลข 8

หมายเหตุ เมื่อต้องการวัดค่าของเหลวใหม่และต่อเนื่อง ต้องนำตัวรับรู้หรือหัววัดค่าไปล้างน้ำสะอาดให้เรียบร้อยจากนั้นกดปุ่ม CAL หมายเลข 5 ครั้ง เพื่อรีเซ็ทค่าการวัด จะทำให้ค่าที่วัดได้มีความเที่ยงตรงมากขึ้น

ส่วนที่ 5 การทดลองใช้เครื่องมือวัด

  1. เตรียมของเหลว 2 แบบ ที่ต่างกัน เช่น น้ำทะเล และน้ำคลอง หรืออื่น ๆ ที่สามารถหาได้
  2. กำหนดการตั้งค่า เป็นหน่วย %ความเค็ม และ ppm
  3. ฝึกทดลองวัดคุณสมบัติของของเหลว 2 แบบ
  4. ฝึกอ่านค่าที่วัดได้ โดยทำตามวิธีใช้งานตามรายละเอียดใน ส่วนที่ 4
  5. ฝึกแปลงค่า ppm เป็น ppt (โดย 1 ppt = 1000 ppm)*
  6. ฝึกบันทึกค่าที่ได้

* เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรไทย นิยมใช้ค่า ppt มากกว่า ppm ดังนั้นผู้ใช้ต้องสามารถแปลงหรือเทียบหน่วยทั้งสองได้ เพื่อสร้างความคุ้นเคยการใช้งานและการตีความผลที่ถูกต้อง

หลักสูตรที่ 2 ความเข้าใจหลักการทำงานของเทคโนโลยีเครื่องจักรและวิธีการกำหนดตัวแปรหรือปัจจัย

คำอธิบายและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ 1. ต้องการให้เข้าใจถึง หลักการทำงานของเครื่องมือวัดเรียนรู้
2. ต้องการให้อ่านค่าและแปลความหมายผลการตรวจวัด
วิธีการพัฒนา 1. ต้องการให้เข้าใจหลักการทำงานของเทคโนโลยีเครื่องจักร
2. ต้องการให้เข้าใจถึงวิธีการกำหนดตัวแปรหรือปัจจัยของนวัตกรรม
เกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จ 1. นำนวัตกรรมมาอธิบาย โดยแสดงให้เห็นถึง ชิ้นส่วน ส่วนประกอบและหลักการทำงานนวัตกรรม
2. หลักการกำหนดตัวแปร เช่น ขนาด ความยาว อัตราการผลิต เป็นต้น
วิธีวัดผล 1. ลงมือปฏิบัติภายใต้การดูแลของนักวิจัย
2. ตอบคำถามตามแบบทดสอบ (ตารางที่ 3.7)
ระยะเวลา 120 นาที
เครื่องมือ อุปกรณ์ 1. เครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรม
2. อาหารสัตว์ที่ต้องการทดลอง
ส่วนที่ 1 ส่วนประกอบของเครื่องจักร
ตารางที่ 1 รายละเอียดชิ้นส่วน/อุปกรณ์เครื่องจักรผลิตอาหารสัตว์แบบจมน้ำ (อาหารกุ้ง)

ชิ้นส่วน/อุปกรณ์

คำอธิบาย

ภาพประกอบ

ห้องบรรจุวัตถุดิบ

มีลักษณะเป็นกรวยทรงสูง ซึ่งภายในมีจานบดอัดวัตถุดิบและชุดอัดรีดวัตถุดิบ ยึดติดกับหน้าแปลนของห้องลำเลียงวัตถุดิบที่ภายในมีใบตัดวัตถุดิบที่ได้จากการอัดรีดมา โดยวัสดุของห้องบรรจุสามารถใช้สังกะสีหรือวัสดุอื่น เช่น สแตนเลสแผ่นบาง ม้วนขึ้นรูปให้มีลักษณะเป็นทรงกรวยเพื่อรองรับการป้อนวัตถุดิบ

ชุดอัดรีดวัตถุดิบ

มีลักษณะกลมเหมือนล้อมี 2 ชิ้น ซ้าย-ขวา ใช้วัสดุเป็นเหล็กหล่อและกัดเซาะร่องลึกตามแนวรัศมีของล้อบดอัด ซึ่งร่องมีความลึกไม่เกิน 5 มิลลิเมตร โดยรับแรงบิดหรือกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าและชุดทดกำลังให้เคลื่อนที่แนวรัศมีไปโดยรอบห้องบรรจุวัตถุดิบ เมื่อวัตถุดิบเข้ามาอยู่ระหว่างชุดอัดรีดและจานบดอัดวัตถุดิบ การหมุนของชุดอัดรีดจะบีบอัดวัตถุดิบให้แตกเป็นชิ้นเล็กและส่งวัตถุดิบลงไปในรูของจานบดอัดที่ถูกกำหนดขนาดมาแล้ว

จานบดอัดวัตถุดิบ

มีลักษณะเป็นแผ่นวงกลมเจาะรูโดยตลอดทั้งแผ่นคล้ายรังผึ้ง ใช้วัสดุเหล็กหล่อเช่นเดียวกับชุดอัดรีดวัตถุดิบ โดยรูมีขนาด 3 และ 4 มิลลิเมตร มีความหนา 20 และ 25 มิลลิเมตร ซึ่งขนาดและความยาวของรูจานบดอัดนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความหนาแน่นผลิตภัณฑ์ให้เพียงพอต่อการจมน้ำและการละลายน้ำ ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นของการผลิตอาหารสัตว์น้ำ

เพลาขับ

มีลักษณะเป็นเพลากลม เส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับเพลาที่ออกจากชุดทดกำลัง ปลายเพลาทำเป็นเกลียวเพื่อยึดเพลาขับติดกับเรือนของชุดอัดรีดวัตถุดิบให้หมุนบดวัตถุดิบกับจานบดอัด และยึดกับบู๊ซสวมเพลาขับของใบตัดผลิตภัณฑ์อีกด้วย เพลาขับนิยมใช้เหล็กเพลาขาว หรือเหล็กหัวแดงที่ชุบแข็งแล้วเป็นวัสดุ

ใบตัดผลิตภัณฑ์

ใบตัดถูกผลิตภัณฑ์ออกแบบให้มีลักษณะเป็นแผ่นยาวยึดติดกับบู๊ซสวมเพลาขับ สามารถปรับระดับตามแนวดิ่งโดยใช้การขันน็อตอัดกับบู๊ซ ใช้เพื่อกำหนดความยาวของผลิตภัณฑ์ภายหลังการถูกอัดรีดจากจานบดอัด ซึ่งใบตัดจะหมุนตามแนวรัศมีตามความเร็วรอบของต้นกำลังที่ถูกทดรอบ การออกแบบต้องให้เชื่อมโยงกับอัตราการไหลของวัตถุดิบที่ออกจากจานบดอัด

ห้องลำเลียงผลิตภัณฑ์

ห้องลำเลียงผลิตภัณฑ์ ถูกออกแบบให้มีปริมาณพอเหมาะกับอัตราการผลิต โดยเมื่อมีปริมาณผลิตภัณฑ์ถูกตัดและมีปริมาณมากพอ ผลิตภัณฑ์จะไหลออกจากช่องว่างที่เจาะให้มีพื้นที่กว้างมากพอและสามารถติดตั้งถาดลำเลียง ทั้งนี้ ห้องลำเลียงควรใช้วัสดุเหล็กเหนียว หรือเหล็กแผ่นที่มีความหนาไม่น้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ในกรณีใช้เหล็กหล่อต้องมีแบบขึ้นรูปเหมาะกับการสร้างเพื่อการค้า ไม่เหมาะกับการสร้างเพื่อใช้งานส่วนตัวที่มีจำนวนการผลิตน้อย เพราะไม่คุ้มค่าการลงทุน

ถาดลำเลียงผลิตภัณฑ์

ถาดลำเลียงผลิตภัณฑ์ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายรางน้ำทำจากวัสดุได้หลายประเภท เช่น เหล็ก สแตนเลส และสังกะสี เป็นต้น ที่มีขนาดความยาวเพียงพอต่อระยะของภาชนะรองรับผลิตภัณฑ์ สำหรับถาดลำเลียงถูกติดตั้งติดกับห้องลำเลียงผลิตภัณฑ์ที่ยึดด้วยน็อตและสามารถถอดประกอบได้ ซึ่งขนาดของถาดลำเลียงจะต้องมีความสูงมากพอเพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์กระเด็นออก

ต้นกำลังและชุดทดกำลัง

ต้นกำลังใช้มอเตอร์ไฟฟ้าส่วนชุดกำลังใช้มอเตอร์เกียร์ที่ออกแบบให้มีกำลัง แรงบิด และความเร็วรอบที่เหมาะสมกับการอัดรีดวัตถุดิบ ซึ่งการเลือกมอเตอร์ไฟฟ้าและชุดทดกำลังต้องสามารถใช้งานได้กับระบบไฟฟ้าในกลุ่มบ้านเรือนหรือที่พักอาศัย คือ 220VAC 50 Hz และถูกยึดตึดอย่างดีกับโครงสร้าง

ตารางที่ 2 รายละเอียดชิ้นส่วน/อุปกรณ์เครื่องจักรผลิตอาหารสัตว์แบบลอยน้ำ (อาหารปลา)

ชิ้นส่วน/อุปกรณ์

คำอธิบาย

ภาพประกอบ

ห้องบรรจุวัตถุดิบ

มีลักษณะเป็นกรวยเหลี่ยมทรงสูง ซึ่งภายในบรรจุชุดเกลียวคลุกเคล้าวัตถุดิบที่ถูกขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและควบคุมรอบการหมุนด้วยอุปกรณ์ควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้าขับเพลากังหันคลุกเคล้าวัตถุดิบ วัสดุใช้เหล็กแผ่นหนา 1.2 มิลลิเมตรพับขึ้นรูป

อุปกรณ์ควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้าขับเพลากังหันคลุกเคล้าวัตถุดิบ

เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้ากระแสตรงทำหน้าที่ควบคุมความเร็วในการป้อนวัตถุดิบในห้องบรรจุลงสู่ห้องอัดรีดร้อน โดยสามารถปรับตั้งความเร็วของการหมุนเพลาด้วยการควบคุมความถี่ ได้ 10 ระดับด้วยการหมุนตามเข็มนาฬิกาที่กล่องควบคุม

เฟืองขับและโซ่ส่งกำลังเพลาเกลียวคลุกเคล้าวัตถุดิบ

เป็นการออกแบบตัวขับและชุดส่งกำลังเพลาเกลียวคลุกเคล้าวัตถุดิบ โดยเฟืองขับยึดติดกับมอเตอร์ไฟฟ้าและเฟืองตามยึดติดกับเพลาเกลียวที่มีการส่งกำลังด้วยโซ่ โดยอัตราทดมีค่าเท่ากัน 1:1

ชุดต้นกำลังและชุดส่งกำลังขับชุดเกลียวอัดรีดร้อน

เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นต้นกำลังสูงสุด คือ ขนาด 5 แรงม้า 220VAC 50 Hz single phase ในการขับเพลาของเกลียวอัดรีดร้อนด้วยการทดรอบการหมุนด้วยพู่เลย์และส่งผ่านกำลังด้วยสายพานเพื่อสร้างแรงบิด

เกลียวอัดรีดร้อน

วัตถุดิบถูกพาไปตามช่องว่างของเกลียวเพื่ออัดให้เกิดความหนาแน่นและเมื่อการอัดให้วัตถุดิบผ่านชุดกำหนดขนาดผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งส่วนปลายของเพลาอัดรีดร้อน

ชุดกำหนดขนาดผลิตภัณฑ์

เป็นอุปกรณ์ที่สวมเข้ากับเพลาอัดรีดร้อนโดยมีการเจาะรูในแนวรัศมี ตามขนาดของผลิตภัณฑ์ เมื่อวัตถุดิบถูกอัดผ่านรูออกมาเป็นเส้นด้วยกำลังอัดที่สูงและร้อนส่งผลให้วัตถุดิบเกิดการฟู ทำให้ความหนาแน่นลดลงและถือเป็นความสำคัญหลักของการผลิตอาหารแบบลอยน้ำ

มอเตอร์ไฟฟ้าขับใบตัดวัตถุดิบ

เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่สุดที่ 0.25 แรงม้า 220VAC 50 Hz single phase โดยปลายเพลามอเตอร์ไฟฟ้าถูกยึดติดกับใบตัดวัตถุดิบ

ใบตัดวัตถุดิบ

มีลักษณะคล้ายใบพัด 1ก้าน สวมต่อกับชุดต้นกำลังที่เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าและใช้สปริงสวมเพื่อดันใบตัดไปชิดกับชุดกำหนดขนาดผลิตภัณฑ์

ส่วนที่ 2 ขั้นตอนการใช้งาน

2.1 ขั้นตอนการใช้งานนวัตกรรมเครื่องจักรผลิตอาหารสัตว์แบบจมน้ำ

1. ผสมวัตถุดิบในปริมาณที่ต้องการ

2. ป้อนวัตถุดิบลงในห้องบรรจุ

3. ตรวจสอบปริมาณให้วัตถุดิบมีปริมาณเหมาะสม

4. หาภาชนะรองรับผลิตภัณฑ์

5. ตรวจสอบความยาวและความโตของผลิตภัณฑ์

6. ตรวจสอบการจมน้ำของผลิตภัณฑ์

7. ตรวจสอบการไหม้ของผลิตภัณฑ์

2.2 ขั้นตอนการใช้งานนวัตกรรมเครื่องจักรผลิตอาหารสัตว์แบบลอยน้ำ

1. บดวัตถุดิบและคลุกเคล้าให้เข้ากัน

2. ทดสอบความชื้นด้วยการกำวัตถุดิบด้วยมือ

3. เทวัตถุดิบลงในห้องบรรจุวัตถุดิบ

4. ปรับตั้งความเร็วรอบการป้อนวัตถุดิบและเปิดเบรกเกอร์ให้มอเตอร์ไฟฟ้าทุกตัวทำงาน

5. นำภาชนะมารองรับผลิตภัณฑ์

6. นำผลิตภัณฑ์ไปตากแห้ง

7. ตรวจสอบขนาดและการลอยน้ำของผลิตภัณฑ์

ส่วนที่ 3 การทดลองใช้เครื่องจักรผลิตอาหารสัตว์ทั้ง 2 แบบ

  1. เตรียมวัตถุดิบทั้ง 2 เครื่องจักร ที่ต่างกัน เช่น น้ำทะเล และน้ำคลอง หรืออื่น ๆ ที่สามารถหาได้
  2. ผสมวัตถุดิบและทดลองหาความชื้นที่เหมาะสม
  3. ฝึกเลือกขนาดผลิตภัณฑ์จากหน้าจาน
  4. ฝึกกำหนดค่าความยาวผลิตภัณฑ์จากการปรับตั้งใบตัดผลิตภัณฑ์
  5. ฝึกตั้งค่าความร้อน
  6. ฝึกกำหนดรอบการป้อนวัตถุดิบ
  7. ฝึกตรวจสอบผลิตภัณฑ์ตามค่าที่กำหนด
  8. ฝึกทดลองการจมและลอยน้ำของผลิตภัณฑ์
  9. บันทึกค่าที่ได้

หลักสูตรที่ 3 ความเข้าใจในเทคนิคและวิธีการบำรุงรักษาที่ถูกต้องและปลอดภัย

คำอธิบายและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ 1. ต้องการให้เข้าใจหลักการบำรุงรักษาเครื่องจักรแบบเคลื่อนไหว
2. ต้องการให้เข้าใจถึงชิ้นส่วนและส่วนประกอบที่จำเป็นต้องบำรุงรักษา
วิธีการพัฒนา 1. นำนวัตกรรมมาอธิบาย โดยแสดงให้เห็นถึง ชิ้นส่วน ส่วนประกอบที่เคลื่อนไหวและหยุดนิ่ง
2. อธิบายผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบำรุงรักษา
เกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จ 1. ความเข้าใจในความจำเป็นที่ต้องมีการบำรุงรักษา
2. ความเข้าใจในผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบำรุงรักษา
วิธีวัดผล 1. ลงมือปฏิบัติภายใต้การดูแลของนักวิจัย
2. ตอบคำถามตามแบบทดสอบ (ตารางที่ 3.7)
ระยะเวลา 60 นาที
เครื่องมือ อุปกรณ์ 1. เครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรม
2. ผ้าเช็ดมือ

ส่วนที่ 1 รายละเอียดของข้อควรรู้ ข้อระวังในการใช้งานเครื่องจักรผลิตอาหารสัตว์

1.1 ด้านความปลอดภัย

  1. เครื่องจักรมีหลักการทำงานที่มีการหมุนและใช้แรงบิดสูงเพื่อบดอัดวัตถุดิบ ดังนั้น ควรตรวจสอบการปลอมปนของเศษโลหะที่ผสมอยู่ในวัตถุดิบ เนื่องจากโลหะจะทำให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์เสียหายและอาจกระเด็นออกจากห้องบรรจุวัตถุดิบได้
  2. กรณีสร้างเครื่องจักรเป็นแบบเคลื่อนที่ได้ ต้องมีการล็อคล้อไม่ให้เกิดการเคลื่อนที่ ทั้งนี้ เนื่องจากนวัตกรรมใช้ต้นกำลังสูง หากไม่ทำให้โครงสร้างนิ่งอยู่กับที่จะเกิดอันตรายอย่างยิ่งจากการหมุนและไหลของเครื่องจักร
  3. การเชื่อมต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า ต้องมีความแน่ใจว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ทนค่ากระแสไฟฟ้าของต้นกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าและความร้อนได้เพียงพอ หากอุปกรณ์ไม่สามารถทนกระแสไฟฟ้าได้จะเกิดการช็อตและมีโอกาสที่เกิดไฟไหม้ได้
  4. ในขณะทำงานควรทยอยปล่อยวัตถุดิบให้สัมพันธ์กับการบด เนื่องจากจะทำให้วัตถุดิบไหม้และกระแสไฟฟ้าเกิน
  5. ควรหลีกเลี่ยงตั้งเครื่องจักรในที่โล่งปราศจากการป้องกันฝน เพื่อป้องกันละอองฝนกระเด็นเข้ามาในชุดอุปกรณ์ไฟฟ้า 

1.2 ด้านความสะอาด

เมื่อใช้งานเสร็จแล้วควรใช้แปรงหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ปัดทำความสะอาดวัตถุดิบออกให้หมดก่อนการจัดเก็บ เพื่อป้องกันหนูหรือสัตว์อื่น ๆ เข้ามากัดกินวัตถุดิบเพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคจากสัตว์พาหะ

ส่วนที่ 2 วิธีบำรุงรักษาเครื่องจักร

  1. หากไม่ใช้งานนาน ๆ ให้ถอดชิ้นส่วนอุปกรณ์แต่ละชิ้นออกและปัดด้วยแปรงทาสี ในกรณีจานบดอัดวัตถุดิบอาจต้องแช่น้ำมันเพื่อป้องกันสนิมและล้างด้วยน้ำยาล้างจานและเช็ดแห้งก่อนนำมาใช้งานอีกครั้งหมั่นตรวจสอบความคล่องตัวของของเพลาขับให้สามารถหมุนได้ดี
  2. หมั่นตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำมันในชุดทดกำลัง ซึ่งหากมีการรั่วซึมให้เปลี่ยนซีลกันรั่วซึมซึ่งสามารถดูขนดได้ตามอัตราทด
  3. ไม่ควรให้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เกิดสนิม ซึ่งสามารถทำได้โดยการใช้น้ำมันหล่อลื่นหรือน้ำมันพืชทาบาง ๆ บริเวณผิวหน้าสัมผัสของชิ้นส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนที่มีการหมุนและชิ้นส่วนบริเวณผิวสัมผัส เช่น หน้าแปลน เกลียวน็อต เพลาขับ เป็นต้น
  4. เมื่อใช้งานเสร็จต้องนำวัสดุที่เหลืออยู่ในจานบดอัดวัตถุดิบและเพลาอัดรีดร้อนออก โดยทันที เพื่อป้องกันวัตถุดิบแข็งและยึดติดทำให้เอาออกยากและจะไม่สามารถใช้งานเครื่องจักรได้ต่อไป
  5. ตรวจสอบการล็อคของล้อว่าต้องสามารถล็อคไม่ให้เคลื่อนที่ได้
  6. ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยสังเกตว่ามีการละลายหรือเสียรูปจากความร้อนหรือไม่

ส่วนที่ 3 การฝึกตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องจักร

  1. ฝึกถอด-ประกอบชิ้นส่วนและการเกิดสนิม
  2. ฝึกการนำวัตถุดิบที่เหลือออก
  3. ฝึกตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำมันในชุดทดกำลัง
  4. ฝึกตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า
  5. ฝึกบันทึกค่าที่ได้ ตามตารางบันทึกค่า
รายการที่ตรวจสอบ
ผลการตรวจสอบ (ปกติ ฝ ผิดปกติ)
วัน / เดือน / ปี
ผู้ตรวจสอบ
ชิ้นส่วนเกิดสนิม
วัตถุดิบค้างในเครื่องจักร
การรั่วซึมของน้ำมันในชุดทดกำลัง
อุปกรณ์ไฟฟ้า
ระยะเวลา
เครื่องมือ อุปกรณ์

หลักสูตรที่ 4 ทักษะการนำเสนอและถ่ายทอดและการใช้เหตุผลในการตอบคำถาม

คำอธิบายและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ 1. ต้องการให้มีทักษะการนำเสนอ
2. ต้องการฝึกวิธีคิดการใช้เหตุผลเพื่อตอบคำถาม
วิธีการพัฒนา 1. ฝึกการนำเสนอในแบบกึ่งวิชาการ โดยมีศัพท์ที่เข้าใจง่าย
2. ฝึกฝนการลำดับกระบวนการ
เกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จ 1. ความสามารถในการนำเสนอ
2. ความสามารถในการตอบคำถาม
วิธีวัดผล 1. ลงมือปฏิบัติภายใต้การดูแลของนักวิจัย
2. ถามคำถามและให้ตอบคำถามตามขั้นตอนและกระบวนการ
ระยะเวลา 30 นาที
เครื่องมือ อุปกรณ์ 1. เครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรม
2. เครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์

ส่วนที่ 1 ความหมายของการนำเสนอ การถ่ายทอด และการใช้เหตุผลในการตอบคำถาม

1.1 ความหมายของการนำเสนอ

การนำเสนอ (Presentation) หมายถึง การสื่อสารเพื่อเสนอข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็น หรือความต้องการไปสู่ผู้รับสาร โดยใช้เทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ อันจะทำให้บรรลุผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของการนำเสนอ ซึ่งมีการนำเสนอหลายรูปแบบ คือ 1) การนำเสนอข้อมูลเป็นรูปเล่ม หรือรายงานรูปเล่ม 2) การนำเสนอข้อมูลด้วยวาจา  หรือการรายงานปากเปล่า 3) การนำเสนอข้อมูลด้วยการใช้เทคโนโลยี โดยมีกระบวนการนำเสนอดังนี้

การนำเสนอ (Presenting) เป็นศาสตร์ (วิธีการ) ของการสื่อสาร (Communication) ซึ่งเป็นกระบวนการถ่ายทอด สาร (message) จากฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่าผู้ส่งสาร (sender) ไปสู่อีกฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า ผู้รับสาร (receiver) โดยผ่านช่องทานของ สื่อ (channel) (ข้อมูลจาก http://pwwk.ac.th/rainc/2016/05/16/)

1.2 ความหมายของการถ่ายทอด

การถ่ายทอด (Transfer) หมายถึง ขั้นตอนหนึ่งของการจัดการความรู้ (knowledge management) ซึ่งหมายความถึง การแบ่งปันความรู้ภายในองค์การที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ ที่มีการสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีการสร้างความรู้ แบ่งปันความรู้ และสะสมความรู้ในทุกระดับ (รวบรวมและเรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ ดร. เยาวภา ปิ่นทุพันธ์)

 1.3 ความหมายของเหตุผล

เหตุผล หมายถึง การนำหลักฐานหรือสิ่งที่ยืนยันความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นจริง การอ้างเหตุผล คือ การเสนอหลักฐานเพื่อสนับสนุนหรือยืนยันว่าข้อสรุปเป็นจริง การอ้างเหตุผลจะเกิดเมื่อเรามีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งแล้วอยากให้คนอื่นเชื่อด้วยเหตุผล เป็นศักยภาพทางความคิดของมนุษย์ทำให้มนุษย์เหนือกว่าสัตว์อื่น เพราะมนุษย์สามารถใช้เหตุผลในการแสวงความจริงหรือความรู้ และคิดสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ

ส่วนที่ 2 หลักพื้นฐานของการนำเสนอข้อมูล การถ่ายทอด และการใช้เหตุผลในการตอบคำถาม

2.1 หลักพื้นฐานของการนำเสนอข้อมูล (อ้างอิงข้อมูลจาก http://pwwk.ac.th/rainc/2016/05/16/)

  1. การดึงดูดความสนใจ โดยการออกแบบและเลือกองค์ประกอบต่าง ๆ ให้น่าสนใจ เช่น สีพื้น แบบ สีและขนาดของตัวอักษร รูปประกอบ ต้องเหมาะสม สวยงาม
  2. ความชัดเจนและความกระชับของเนื้อหา ส่วนที่เป็นข้อความต้องสั้นแต่ได้ใจความชัดเจน ส่วนที่เป็นภาพประกอบต้องมีส่วนสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับข้อความที่ต้องการสื่อความหมาย
  3. ความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก ต้องใช้สีสด ๆ และภาพการ์ตูนมีความเหมาะสม ถ้ากลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใหญ่ ต้องเน้นการนำเสนอเรื่องวิชาการหรือธุรกิจและใช้ภาพประกอบที่เหมาะสม 

2.2 หลักพื้นฐานของการถ่ายทอด (อ้างอิงจาก การจัดการวัฒนธรรมทางองค์การสำหรับการถ่ายทอดความรู้โดย เยาวภา ปิ่นทุพันธ์)

  1. เป็นการเติมข้อมูลการปฏิบัติงานที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุด (Best practices) ในข้อมูลขององค์กร
  2. เป็นการทำแบบประเมินและตรวจสอบประสบการณ์และข่าวสารความรู้ที่ไม่ถูกต้องของผู้ปฏิบัติ
  3. เป็นการสอน การติวเข้ม การเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้อื่น การอภิปราย และการพูดคุยอย่างเปิดเผย
  4. เป็นการให้ข้อแนะและข้อสังเกตอย่างเปิดเผย การให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ และการให้คำตอบสำหรับปัญหาการปฏิบัติงานแก่ผู้อื่น
  5. เป็นการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับความเข้าใจในประโยชน์ สถานการณ์ หรือปัญหาที่ซับซ้อน การเขียนลำดับขั้นตอนของการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในการปฏิบัติงาน และหนังสือคู่มือการปฏิบัติงานในระหว่างที่กำลังทำงานในกระบวนการพัฒนาและปรับปรุงงาน
  6. เป็นการใช้ฐานข้อมูลความรู้ที่มีอยู่ในการทำกิจกรรมหรือภารกิจต่าง ๆ

2.3 หลักพื้นฐานของเหตุผลในการตอบคำถาม

  1. ใช้หลักฐานหรือสิ่งที่ยืนยันความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นจริง
  2. เมื่อจะทำอะไรก็ตามเราต้องคิดก่อนว่าเราควรทำหรือไม่ เพราะเหตุใด นี่คือการถามหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดและการกระทำของตัวเอง
  3. การใช้เหตุผล (reasoning) เป็นกระบวนการทางความคิดที่พยายามแสดงว่าข้อสรุปควรเป็นที่ยอมรับเพราะมี เหตุผลหรือหลักฐานมาสนับสนุน
  4. สามารถอธิบายเหตุผลนี้ให้คนอื่นเข้าใจและยอมรับด้วย เมื่อได้ฟังเรื่องราวบางอย่างเราอาจไม่เชื่อทั้งหมด ในการเลือกว่าเรื่องใดควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ
  5.  ต้องใช้เหตุผลในการพิจารณาการตัดสิน

ส่วนที่ 3 การฝึกนำเสนอข้อมูล การถ่ายทอด และการใช้เหตุผลในการตอบคำถาม

  1. ฝึกให้นำเสนอหลักการทำงาน การบำรุงรักษา และการปรับเปลี่ยนตัวแปรการผลิตของเครื่องจักร
  2. ฝึกการถ่ายทอดด้วยการปฏิบัติ ด้วยการใช้งานเครื่องจักร
  3. ฝึกการ ถาม และ ตอบคำถามด้วยวาจาพร้อมให้เหตุผล
  4. ฝึกการอธิบาย การใช้เครื่องมือวัด การตรวจสอบวัตถุดิบก่อนการผลิต

หลักสูตรที่ 5 การคำนวณต้นทุนการผลิตเบื้องต้น

คำอธิบายและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ 1. ต้องการให้เข้าใจต้นทุนการผลิตระดับเบื้องต้น
2. ต้องการให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องคำนวณต้นทุน
วิธีการพัฒนา 1. สอบถามข้อมูลต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ที่ผ่านมา
2. หาสัดส่วนต้นทุนที่สูงที่สุด
3. คำนวณต้นทุนเบื้องต้นและผลต่างที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักร
เกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จ 1. ความเข้าใจในต้นทุน
2. ความสามารถในการหาสัดส่วนต้นทุน
3. ความสามารถในการคำนวณต้นทุนและผลต่าง
วิธีวัดผล 1. ตอบคำถามตามแบบทดสอบ (ตารางที่ 3.7)
2. ทดลองการคำนวณต้นทุนและผลต่าง
ระยะเวลา 60 นาที
เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องคำนวณ กระดาษ ดินสอ/ปากกา

ส่วนที่ 1 ความหมายของต้นทุน

  1. ต้นทุนการผลิต (Production Cost) หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ ตามความต้องการของลูกค้า โดยมีองค์ประกอบของต้นทุนการผลิต คือ
  2. ต้นทุนด้านแรงงาน (Labor Cost) เป็นค่าใช้จ่ายด้านแรงงานในการทำงานและผลิตสินสินค้าเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต้นทุนด้านวัสดุ/วัตถุดิบ (Material Cost) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ที่ใช้ในการผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อม

ส่วนที่ 2 วัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต

  1. เพื่อกำหนดหาต้นทุนการผลิตที่ใกล้เคียงที่สุด การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตจะทำให้ทราบถึงจุดที่มีต้นทุนการผลิตที่สูง-ต่ำ รวมถึงสาเหตุและที่มาที่ทำให้ต้นทุนการผลิตที่สูงได้
  2. ควบคุมและลดต้นทุนการผลิต เมื่อทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้เราสามารถหามาตรฐานแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้
  3. เพื่อตัดสินใจและวางแผนงานต่างๆ เช่น เมื่อทราบปัญหาที่ทำให้เกิดต้นทุนการผลิตที่ ทำให้สามารถประมาณการต้นทุนการผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในด้านราคาได้
  4. เพื่อกำหนดกำไรและฐานะทางการเงินของกิจการ

ส่วนที่ 3 การคำนวนต้นทุน

การคำนวณต้นทุนการผลิตมีสูตรดังนี้

ต้นทุนการผลิต = ต้นทุนวัสดุ/วัตถุดิบ + ต้นทุนแรงงาน + ค่าโสหุ้ย*

*ค่าโสหุ้ย เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าเช่า ค่าน้ำประปา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากค่าวัสดุ/วัตถุดิบและค่าจ้างแรงงาน

ส่วนที่ 4 การฝึกคำนวนต้นทุน

ให้คำนวณต้นทุนการผลิต โดยกำหนดว่า

4.1 ค่าวัตถุดิบต่อการผลิต 8 ชั่วโมง = 500 บาท

4.2 ค่าจ้างแรงงานต่อการผลิต 8 ชั่วโมง = 300 บาท

4.3 ค่าไฟฟ้าที่ใช้ต่อการผลิต 8 ชั่วโมง = 20 บาท

4.4 ค่าบำรุงรักษาเฉลี่ยต่อการผลิต 8 ชั่วโมง = 10 บาท

4.5 ค่าน้ำประปา ใช้ต่อการผลิต 8 ชั่วโมง = 15 บาท

4.6 ค่าเช่าที่เดือนละ 3,000 บาท

4.7 ค่าดอกเบี้ยเฉลี่ยเดือนละ 1,500 บาท